9.3.13

8 ทิปส์สุขภาพ เรียกคืนความสดใสให้ชีวิต



         ข้อมูลล่าสุดจาก The Food and Drug Administration (FDA or USFDA) ระบุชัดเจนว่า การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ในระยะยาว ส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกาย (Immune System) ลดลง ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและอาการอ่อนเพลียได้ง่ายขึ้น ทั้งที่จริง ๆ แล้วแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของคุณ เพียงเท่านี้ก็ช่วยเพิ่มระดับพลังงาน ทำให้คุณสดชื่นได้ตลอดวันแล้วล่ะ


1. ดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำ

          ใช่แล้วค่ะ ส่วนประกอบ 2 ใน 3 ของร่างกายมนุษย์คือน้ำ การรักษาระดับน้ำด้วย การดื่มน้ำให้ได้หลาย ๆ แก้วต่อวันโดยไม่ต้องนับว่า 8-9 แก้วแล้วพอ นั่นย่อมดีต่อตัวคุณเป็นแน่ ดังนั้นการดื่มน้ำสะอาดย่อมเป็นวิธีที่สุดแสนจะประหยัด ซึ่งผ่านการพิสูจน์แล้วว่าจะช่วยคืนความสดชื่นให้กับร่างกายได้มากกว่าเครื่องดื่มผสมวิตามิน หรือเครื่องดื่มเกลือแร่เป็นไหน ๆ

          Healthy Tips : ลองเพิ่มระดับความสดชื่นให้น้ำดื่มของคุณด้วยการเติมน้ำมะนาว หรือน้ำส้ม ลงไปดูสิคะ

 2. อย่าละเลย "อาหารเช้า"

          มีการศึกษายืนยันชัดเจนว่า การกินอาหารเช้าสามารถกระตุ้นระบบเมตาบอลิซึม (Metabolism) หรือกระบวนการสร้างและเผาผลาญในเซลล์ของร่างกายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เรารู้สึกสดชื่นไปตลอดทั้งวัน รู้อย่างนี้แล้วมาเริ่มเช้าวันใหม่ด้วยอาหารเช้าดี ๆ กันนะคะ

          Healthy Tips : รับประโยชน์ยามเช้าด้วยเมนูสุขภาพจากโฮลเกรน อย่างซีเรียลโฮลเกรนกับผลไม้ เช่น กีวี สตรอว์เบอร์รี หรือขนมปังโฮลเกรนทาด้วยเนยถั่วธรรมชาติ ให้ทั้งพลังงานและประโยชน์ต่อร่างกายด้วยค่ะ

 3. ของกินเล่นระหว่างมื้อก็สำคัญนะ

          อย่าปล่อยให้ท้องหิวระหว่างมื้ออาหารเชียวนะคะ เพราะนั่นเป็นสาเหตุให้ระดับความดันโลหิตของคุณลดลง จนเกิดอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรงระหว่างวันได้ เพื่อความไม่ประมาท ควรเตรียมของกินเล่นที่ผสมผสานประโยชน์จากโปรตีนและไขมันคุณภาพ เพื่อช่วยชะลอไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดตก ไว้รับประทานระหว่างวันด้วย

          Healthy Tips : จัดของกินเล่นดี ๆ ระหว่างมื้อมาแชร์กับเพื่อนร่วมงานดูสิคะ เช่น โยเกิร์ตกับผลไม้สด ถั่วสมุนไพร สลัดผัก อิ่มทั้งท้องอิ่มทั้งมิตรภาพด้วย


4. สยบความเครียดด้วย "กรดไขมันโอเมก้า 3"

          มีการศึกษายืนยันชัดเจนว่า แหล่งอาหารชั้นดีอย่างปลาแซลมอน ปลาทูน่า เมล็ดแฟลกช์ (Flaxseed) ผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักโขม และปวยเล้ง นอกจากจะให้พลังงานดี ๆ แก่ร่างกายแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมของกรดไขมันโอเมก้า 3 คุณภาพ ที่ร่างกายควรได้รับเพื่อนำมาต่อสู้กับความเครียด และช่วยให้ระบบความจำทำงานดีขึ้น

          Healthy Tips : เลือกรับกรดไขมันโอเมก้า 3 จากอาหารธรรมชาติแบบเต็ม ๆ แทนการกินอาหารเสริมที่อ้างว่ามีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงกันดีกว่าค่ะ

 5. อย่าหลงลืม "แมกนีเซียม"

          อีกหนึ่งแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในกระบวนการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตให้เป็นพลังงานคุณภาพที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้นั้น คือ แมกนีเซียม ซึ่งมีมากในอัลมอนด์ วอลนัต และถั่วบราซิล

          Healthy Tips : กินผลิตภัณฑ์จากโฮลเกรน ผักใบเขียวเข้ม ธัญพืชไม่ขัดสีเป็นประจำ รับรองว่าร่างกายไม่ขาดแมกนีเซียม สมองสดใสไปทั้งวันแน่นอน


6. รับโปรตีนให้พอเพียง

          การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีนไม่เพียงพอนี่เอง ที่เป็นสาเหตุให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย เพราะร่างกายคนเราจำเป็นต้องได้รับโปรตีนเพื่อนำไปช่วยซ่อมแซมและสร้างเซลล์ต่าง ๆ เราจึงควรเลือกกินอาหารที่ประกอบด้วยโปรตีนคุณภาพ ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งพลังงานชั้นดีให้กับร่างกายต่อไป เช่น เนื้อปลา ถั่ว นม โยเกิร์ต ไข่ และเต้าหู้

          Healthy Tips : ใส่ธัญพืชอย่างงาดำ ถั่วแดง เม็ดแมงลัก ข้าวบาร์เลย์ ลงในน้ำเต้าหู้ถ้วยโปรดของคุณด้วยนะคะ ร่างกายจะได้รับสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีน แร่ธาตุ และวิตามิน แถมยังทำให้อิ่มท้องได้นานขึ้นด้วยค่ะ

 7. เปิดรับ "คาร์โบไฮเดรต" อย่างมีสติ

          ถึงอย่างไรคาร์โบไฮเดรตก็ยังเป็นแหล่งสร้างพลังงานที่สำคัญให้สมอง การลดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตในแนวทางการลดความอ้วนจึงอาจส่งผลกระทบให้สมองไม่สดใสและเฉื่อย เพราะจำนวนกลูโคสและน้ำตาลที่ใช้ไปเลี้ยงเซลล์สมองย่อมลดลง มาเลือกรับคาร์โบไฮเดรตอย่างมีสติ ด้วยการเลือกแหล่งอาหารดี ๆ กันเถอะค่ะ

          Healthy Tips : หันมากินขนมปังโฮลวีตแทนขนมปังขาว กินข้าวกล้องแทนข้าวขาว เสริมด้วยผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรต อย่างแอปเปิล เชอร์รี มะม่วง และองุ่น แค่นี้ร่างกายก็ได้รับคาร์โบไฮเดรตคุณภาพเพื่อนำไปเสริมสร้างการทำงานของสมองแล้ว


8.รับปริมาณแคลอรี่ให้เพียงพอในแต่ละวัน

          อาหารที่ได้ชื่อว่ามีปริมาณแคลอรี่สูง มักตกเป็นจำเลยทุกครั้งที่เกิดความอ้วนขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง ปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับจากการกินอาหารเหล่านั้นก็มีความสำคัญกับการกระตุ้นระบบเมตาบอลิซึมให้ทำงานอย่างเป็นปกติ ช่วยให้คุณสดใส รู้สึกเซื่องซึม หรือรู้สึกเพลียในระหว่างวัน ดังนั้น อย่ามัวแต่กลัวอ้วนจนหลงลืมกินอาหารที่ให้ปริมาณแคลอรี่กับร่างกายอย่างเพียงพอในแต่ละวันด้วยนะคะ

          Healthy Tips : กินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้แน่ใจว่าคุณได้รับปริมาณแคลอรี่จากหลากหลายแหล่งอาหาร ทั้งโปรตีน ไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุ







ที่มา -- health.kapook.com



4.3.13

9 เรื่องรถและการขับขี่ที่วัยรุ่นควรรู้


      วันนี้เอาสาระความรู้เกี่ยวกับรถมาฝากเพื่อนๆ ถึงแม้้บทความที่เจอมาเค้่าจะบอกว่าเหมาะสมหรับนักขับที่อายุยังน้อย แต่เราว่าสำหรับมือใหม่ก็จำเป็นเหมือนกันไม่ว่าอายุมากหรือน้อย และด้วยเนื่องจากช่วงนี้ัไปใหนมาใหนมักจะเห็นแต่ป้ายแดงซะส่วนมาก ตามโครงการของหลวงรถคันแรก ซึ่งบางคนก็สามารถทำใบขับขี่ได้ แม้จะขับรถได้คล่อง และสอบใบขับขี่ได้ผ่านฉลุยในที่ทดสอบ แต่เมื่ออยู่บนท้องถนนจริง ๆ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลาย ๆ อย่างก็สามารถเกิดขึ้นได้ อีกทั้งบางสถานการณ์ยังเป็นสถานการณ์ใหม่ที่ผู้ขับขี่มือใหม่ยังไม่เคยประสบมาก่อน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมเผื่ออาจเกิดเหตุการ์เช่นนี้ขึ้นมาจริง ๆ นี่คือ 9 สิ่งเกี่ยวกับรถและการขับขี่ที่นักขับควรรู้เอาไว้.....


  1. จะทำอย่างไรเมื่อตำรวจจราจรเรียกให้หยุด ?

          เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ถูกตำรวจจราจรเรียกให้หยุด หรือต้องขับผ่านด่านตรวจ ให้หยุดรถ ลดกระจกลงเต็มบาน เผยให้เห็นมือทั้งสองข้างที่ไม่ได้หลบหรือซุกไว้ที่ไหน อย่าเคลื่อนไหวตัวแบบทันทีทันใดอันจะทำให้คุณดูมีพิรุธ

    2. ต้องทำอย่างไรเมื่อยางแบน ?

          หากจู่ ๆ ยางรถเกิดแบนขึ้นมา ให้พยายามขับประคองรถจอดที่ข้างทางทันที ในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์และไม่มีทักษะเรื่องการเปลี่ยนยาง หากอยู่บนถนนให้โทรเรียกประกันเพื่อทำการติดต่อกับรถลากเพื่อมาเคลื่อนย้าย หรือถ้าอยู่บนทางด่วนให้โทร 1543 ติดต่อเจ้าหน้าที่การทางพิเศษโดยเฉพาะ

    3. เมื่อรถมีอาการผิดปกติควรปฏิบัติอย่างไร ?

          หากมีสัญญาณใด ๆ ให้สังเกตได้ว่าเกิดความผิดปกติขึ้นกับรถ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องยนต์ดังหรือสั่นมากผิดปกติ มีควันที่ไม่ใช่ควันรถออกมาจากท่อไอเสีย ได้กลิ่นไหม้หรือกลิ่นผิดปกติของวงจรรถ ฯลฯ ให้จอดแล้วออกมาจากรถ จากนั้นโทรแจ้งศูนย์หรืออู่ที่ดูแลรถทันที ส่วนกรณีที่สัญญาณไฟรูปเครื่องยนต์ติดขณะกำลังขับขี่หลังจากที่คุณเพิ่งเติมน้ำมันมา อาจเกิดจากการปิดฝาถังน้ำมันไม่สนิท ให้ลองตรวจเช็คปัญหาดูเบื้องต้น หากแก้ไขแล้วไม่หายให้ประสานไปยังศูนย์ต่อไป

   4. ทำอย่างไรเมื่อเพื่อนดื่มเหล้าแล้วจะขับรถกลับบ้าน ?

          แม้จะเป็นผู้ที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ทำใบขับขี่ก็ยังรู้ดีว่า "ดื่ม (แล้วต้อง) ไม่ขับ" หากคุณและเพื่อนออกไปดริ๊งค์ด้วยกันและอยู่ในอาการกรึ่ม ๆ ทั้งคู่ ปัญหามาเกิดเอาตอนจะกลับบ้านเพราะเพื่อนตัวดียืนยันว่าจะขับรถกลับบ้านให้ได้ ไม่ว่าจะยืนยันว่ายังไม่เมาหรือดูมีสติแค่ไหนก็ตาม ทางที่ดีคุณไม่ควรนั่งรถไปด้วย และไม่ปล่อยให้เพื่อนขับรถกลับไปเด็ดขาด โทรเรียกผู้ปกครอง พี่ หรือคนสนิทให้มารับ หรือจะนั่งแท็กซี่ไปด้วยกันก็ได้ นอนเสียให้สร่าง รุ่งเช้าจึงค่อยมารับรถขับกลับบ้านอีกที แบบนี้ปลอดภัยหายห่วง

    5. โทรศัพท์ขณะขับขี่ มีวิธีทำให้ปลอดภัยไหม ?

          การโทรศัพท์ขณะขับขี่เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาหลายครั้งแล้ว เพราะมือที่ถือโทรศัพท์เป็นอุปสรรคต่อการบังคับพวงมาลัย และทำให้เสียสมาธิไปกับการคุยแทนที่จะสนใจหนทางที่อยู่เบื้องหน้า และในปัจจุบันการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถนั้นก็ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก โดยมีโทษปรับระหว่าง 400-1,000 บาท เว้นเสียแต่การโทรศัพท์โดยใช้อุปกรณ์เสริมอย่างสมอลล์ ทอล์ค ,แฮนด์ ฟรี หรือการเชื่อมต่อเข้ากับระบบบลูทูธของรถ นอกจากนี้ยังไม่ควรส่ง sms ขณะขับรถแม้ว่าจะเป็นช่วงที่รถกำลังติดไฟแดงก็ตาม


  6. เลือกอู่ไหนถึงใช่ที่สุด ?

          หากไม่สะดวกจะไปศูนย์รถยนต์ของคุณ อาจเป็นการยากสำหรับนักขับรุ่นเล็กและยังมือใหม่ที่จะเลือกใช้บริการอู่ซ่อมรถสักแห่งเพราะไม่รู้จะวางใจที่ไหนได้มากที่สุด ในเบื้องต้นคุณสามารถสอบถามเพื่อน คนรู้จัก หรือญาติ ๆ ของคุณได้ว่ามีอู่ซ่อมรถดี ๆ แนะนำหรือไม่ ซึ่งคุณเองก็ยังไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกแห่งบใดแห่งหนึ่งในทันที คุณสามารถเจรจากับอู่แห่งหนึ่ง และเปิดทางให้เขาทราบว่าคุณก็กำลังมองหาอู่แห่งอื่นที่อาจดีกว่าและมีราคาถูกกว่า เพื่อป้องกันการถูกอู่ซ่อมรถโก่งราคาด้วย

     7. เมื่อเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถคันอื่นต้องปฏิตัวอย่างไร ?

          อุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอบนท้องถนน หากเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถคันอื่น ให้เปิดไฟกะพริบแล้วเบนรถจอดข้างทาง แจ้งเจ้าหน้าที่จราจรในบริเวณนั้นเพื่อรายงานอุบัติเหตุ แลกเปลี่ยนรายละเอียดและเบอร์ติดต่อประกันกับคู่กรณี เลี่ยงจะถกเถียงหาว่าใครเป็นฝ่ายผิด แต่ให้โทรเรียกประกันของตัวเองมาไกล่เกลี่ยเป็นดีที่สุด นอกจากนี้ควรใช้กล้องหรือโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพ ณ จุดเกิดเหตุ และสภาพความเสียหายของรถคุณและคู่กรณีเอาไว้ด้วย

     8. ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อต้องขับรถขณะฝนตก ?

          ให้ลดความเร็วลงจากปกติ เปิดไฟต่ำหากทัศนวิสัยไม่ดี หรือถ้าแย่มาก ๆ สามารถใช้ไฟตัดหมอกได้ แต่ไม่ควรใช้ไฟสูงเพราะจะสะท้อนกับสายฝนทำให้ผู้ใช้รถคันอื่นมองไม่เห็นทาง เปิดที่ปัดน้ำฝน และเพิ่มระยะห่างระหว่างรถของคุณและรถคันข้างหน้า เลี่ยงการเหยียบเบรคแรง ๆ เพราะอาจทำให้ล้อล็อก และรถเกิดการสะบัด อันนำไปสู่อุบัติเหตุได้

     9. รับมือกับสถานการณ์กวนอารมณ์บนท้องถนนอย่างไรไม่ให้เกิดความสูญเสีย ?

          หลายครั้งอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากความประมาทหรือพลั้งเผลอ แต่เกิดจากการที่ผู้ขับขี่ไม่สามารถทนต่อความกดดัน หรือแรงยั่วยุจากผู้ใช้รถรายอื่น ๆ ที่มาก่อกวนได้ เช่น ขับปาดป่าย ขับแทรก เบรคกะทันหัน ฯลฯ ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อย่าเพิ่งให้อารมณ์โกรธเข้าครอบงำ อย่าตอบโต้ด้วยการขับรถปาดไปปาดมาเป็นการเอาคืน หายใจเข้าลึก ๆ เพื่อสงบสติอารมณ์ ขับรถไปตามปกติของคุณ หรือเปลี่ยนเส้นการเดินทางหากเป็นไปได้ ท่องเอาไว้ในใจเสมอว่า "การเอาคืนกันด้วยเรื่องเช่นนี้บนท้องถนนเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มจะเสี่ยงเลย เพราะอุบัติเหตุที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา" ยอมเสียอารมณ์เสียเวลาสักนิด ดีกว่าต้องเสียทรัพย์หรือเสียชีวิตเป็นไหน ๆ

          ด้วยความที่เพิ่งมือใหม่หัดขับ อารมณ์ที่ยังขึ้นๆ ลงๆ ได้ง่าย และประสบการณ์บนท้องถนนที่ยังมีไม่มากพอ นักขับมือใหม่จึงเป็นกลุ่มผู้ใช้รถที่ควรมีความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ ผู้ขับควรคำนึงถึงการดูแลตัวเอง เรียนรู้การดูแลรถ รวมทั้งดูแลสวัสดิภาพบนท้องถนนของผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กันด้วย 9 ข้อควรรู้เหล่านี้เป็นเรื่องการใช้รถใช้ถนนเบื้องต้นที่นักขับมือใหม่ "ต้องปฏิบัติตามให้ได้"


ที่มา -- kapook.com