8.12.11

แกนโลกสลับขั้ว...เริ่มวิกฤติ "น้ำท่วมโลก"

ช่วงนี้สมาชิกผู้เชื่อมั่นคำพยากรณ์ "วันน้ำท่วมโลก 2012" ต่างอยู่กันไม่เป็นสุข เพราะต้องช่วยกันเฝ้าจับตาดูเหตุการณ์พายุน้ำฝน น้ำป่า น้ำทะเล ไหลท่วมทะลักเข้าประเทศไทยทุกสารทิศ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สอดคล้องกับคำวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญอย่าง นายวีระ วงศ์แสงนาค ที่ปรึกษาอธิบดีกรมชลประทานประเมินว่า น้ำท่วมไทยปี 2554 ถือว่าเลวร้ายสุด และทำลายสถิติอุทกภัยที่เคยบันทึกมาทั้งหมด !!


 "ปกติแล้วกรมชลประทานจะใช้ตัวเลขปริมาณน้ำเมื่อปี 2538 และปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่น้ำท่วมมากสุดเป็นมาตรฐานวัดสถิติน้ำท่วม โดยระดับน้ำสูงสุดจากระดับน้ำทะเลปานกลางของปี 2538 บริเวณ จ.ปทุมธานี อยู่ที่ 3.17 เมตร แต่ปี 2554 สูงถึง 3.21 เมตร ส่วนระดับน้ำที่ จ.นนทบุรี ปี 2538 สูงที่ 2.33 เมตร แต่ปีนี้พุ่งสูงสุดที่ 2.56 เมตร..." นายวีระ ยกตัวอย่าง


จนถึงวันนี้...ยังไม่มีใครวิเคราะห์ได้ว่า น้ำจะท่วมเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเท่าไร !?!
       
หลายคนไม่เชื่อว่าคำพยากรณ์น้ำท่วมโลกจะเป็นเรื่องจริง อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ยังแปลกใจเมื่อเห็นสถิติพายุมรสุมในแต่ละปีมี จำนวนมากขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บางคนเชื่อว่าเกิดจากภาวะภูมิอากาศแปรปรวน หรือ ภาวะโลกร้อน แต่หลายคนเชื่อว่ามหันตภัยน้ำท่วมปีนี้ คือ จุดเริ่มต้นของน้ำท่วมโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2012 หรือ พ.ศ. 2555 
        
กลุ่มผู้เชื่อใน "วันน้ำท่วมโลก" อ้างอิงข้อมูลวิทยาศาสตร์ว่า 1.ธารน้ำแข็งบริเวณหมู่เกาะกรีนแลนด์ ซึ่งตั้งในมหาสมุทรอาร์กติกทางเหนือกำลังละลาย ด้วยพื้นที่กว่า 2.2 ล้าน ตร.กม. มีน้ำแข็งกว่า 19 ร้อยล้านตัน น้ำแข็งกำลังละลายเป็นน้ำวันละ 1 ล้านตัน โดยจะไหลลงมาสะสมจนทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในปี 2012 ขณะที่คำทำนายจากกลุ่มนักวิจัยอวกาศอ้างว่า องค์การนาซา หรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์คำนวณได้ว่า "วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2012 แกนโลกจะพลิกกลับขั้ว" หมายถึง ขั้วโลกเหนือจะพลิกมาอยู่ขั้วโลกใต้ ช่วงเวลานั้นโลกจะไม่มีพลังสนามแม่เหล็กออกมาป้องกันรังสีต่างๆ ทำให้พลังความร้อนสูง หรือ "เปลวสุริยะ" (solar flare) จากดวงอาทิตย์พุ่งตรงมายังโลก ทำให้ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลายฉับพลัน เกิดหายนะน้ำท่วมทั่วโลก





สำหรับนักวิทยาศาสตร์ไทยกลุ่มที่ไม่ปักใจเชื่อเรื่องน้ำท่วมโลกนั้น พวกเขาวิเคราะห์ว่า น้ำท่วมประเทศไทยหนักขึ้นทุกปี เพราะแผ่นดินทรุดตัวและมีการสร้างตึกสูงหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ขวางทางน้ำ ไหล "ดร.เสรี ศุภราทิตย์" ผอ.ศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลว่า จากงานวิจัยเรื่อง "ผลกระทบและแนวทางการปรับตัวจากผลพวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อ กรุงเทพฯ และปริมณฑล" พบว่า ปกติพื้นที่กรุงเทพฯ รับปริมาณน้ำฝนไหลผ่านได้ไม่เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ปี 2554 มีน้ำไหลผ่าน 4,700 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้น้ำท่วมหนัก
        
สาเหตุหลักเกิดจาก 1.พื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยหายไปปีละประมาณ 10 เมตร และพื้นดินเป็นดินอ่อนมีการทรุดตัวอยู่ตลอดเวลา อีก 40 ปีข้างหน้าจะทรุดต่ำลงไปอีกประมาณ 30 ซม.ทำให้น้ำท่วมง่าย และ 2. ผลจากภาวะโลกร้อนเมื่อน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นการระบายน้ำจึงไม่ทัน ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมักจะมีการสร้างตึกสูงหรือสิ่งก่อสร้าง ขวางทางน้ำไหล ทำให้ไม่มีช่องทางระบายน้ำออก




"องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (โออีซีดี)ใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์น้ำท่วมในอนาคต มีผลยืนยันได้ว่าอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. 2563 จะเกิดน้ำท่วม 9 เมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย หนึ่งในนั้นมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย คือ 1.เมืองโกลกาตา
2.เมืองมุมไบ อินเดีย
3.เมืองดักกา บังกลาเทศ
4.มณฑลกวางสี จีน
5.เมืองเซี่ยงไฮ้ จีน
6.นครโฮจิมินห์ เวียดนาม
7.เมืองไฮฟอง เวียดนาม
8.เมืองย่างกุ้ง พม่า และ
9.กรุงเทพมหานคร

ตอนแรกคาดกันว่าน้ำจะเริ่มท่วมประมาณปี 2560 2561 2562 แต่ไม่รู้ว่า 2554 คือจุดเริ่มต้นหรือเปล่า วิธีแก้คือต้องปล่อยให้น้ำไหลไปตามทางธรรมชาติ อย่าสร้างสิ่งกีดขวาง" ดร.เสรีกล่าวแนะนำทิ้งท้าย

        

 "สุมิตร อิศรางกูร ณ อยุธยา" อดีตนักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา ให้สัมภาษณ์ว่า น้ำท่วมไทยปีนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะมีการเตือนภัยมานานกว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากระหว่างที่แกนโลกเคลื่อนตัวพลิกกลับขั้วจากเหนือไปใต้นั้น ส่งผลให้พลังสนามแม่เหล็กเปลี่ยนแปลง แกนโลกเอียงจาก 23.5 องศาเป็น 24.5 องศา ภาวะแปรปรวนของจักรวาลทำให้โลกร้อนระอุอย่างรวดเร็ว น้ำแข็งจากทั่วโลกละลายเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะเกิดพายุลมมรสุมและภัยธรรมชาติด้านต่างๆ

 "เปรียบเทียบได้กับไฟฟ้าลัดวงจร ปกติไฟฟ้าจะวิ่งจากสูงลงต่ำ แต่พลิกกลับด้านเป็นวิ่งจากต่ำขึ้นสูง ภัยพิบัติธรรมชาติจะมีทั้ง ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ สังเกตไหมว่าช่วงปีที่ผ่านมา มีรายงานข่าวเรื่องดินถล่ม โคลนถล่ม ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก จากนั้นก็เกิดคลื่นยักษ์สึนามิและน้ำท่วมในประเทศต่างๆ ต่อไปจะเกิดภัยธรรมชาติที่เกี่ยวกับลม เช่น พายุลมที่ปกติความเร็ว 40 กม.ต่อชม. จะเพิ่มเป็น 450 กม.ต่อชม. จากนั้นจะเกิดเป็นไฟป่าทั่วไป หน้าร้อนจะร้อนมากขึ้น" อ.สุมิตร กล่าววิเคราะห์


ที่มา--Sp-Report/oknation.net