17.9.12

ขิง ... สมุนไพรก้นครัว

 


        วันนี้เอาความรู้เรื่องเกี่ยวกับ ขิง มาฝากเพื่อนๆกัน  ขิง (Ginger) เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลมีกลิ่นหอมเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันเป็นสองแถว ใบรูปหอกเกลี้ยงๆ กว้าง 1.5 - 2 ซม. ยาว 12 - 20 ซม. หลังใบห่อจีบเป็นรูปรางนำปลายใบสอบเรียวแหลม โคนใบสองแคบและจะเป็นกาบหุ้มลำต้นเทียม ตรงช่วงระหว่างกาบกับตัวใบจะหักโค้งเป็นข้อศอก ดอก สีขาว ออกรวมกันเป็นช่อรูปเห็ดหรือกระบองโบราณ แทงขึ้นมาจากเหง้า ชูก้านสูงขึ้นมา 15 - 25 ซม. ทุกๆ ดอกที่กาบสีเขียวปนแดงรูปโค้งๆ ห่อรองรับ กาบจะปิดแน่นเมื่อดอกยังอ่อน และจะขยายอ้าให้ เห็นดอกในภายหลัง กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอก มีอย่างละ 3 กลีบ อุ้มน้ำ และหลุดร่วงไว โคนกลีบดอกม้วนห่อ ส่วนปลายกลีบผายกว้างออกเกสรผู้มี 6 อัน ผล กลม แข็ง โต วัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม.

        ขิง ขยายพันธุ์โดยใช้เหง้า ปลูกในดินร่วนซุยผสมปุ๋ยหมัก หรือดินเหนียวปนทราย โดยยกดินเป็นร่องห่างกัน 30 ซม. ปลูกห่างกัน 20 ซม. ลึก 5 - 10 ซม. ขิงชอบขึ้นในที่ชื้นมีการระบายน้ำดี ถ้าน้ำขังอาจโดนโรคเชื้อรา และการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจเป็นการลงทุนสูงแต่คุ้มค่าและจะได้พันธุ์ที่ปลอดเชื้อ เพราะส่วนใหญ่โรคที่พบมักติดมากับท่อนพันธุ์ขิง

        ขิง มีอยู่หลายชื่อ ตามแต่ละถิ่น ได้แก่ ขิงแกลง, ขิงแดง (จันทบุรี), ขิงเผือก (เชียงใหม่), สะเอ (แม่ฮ่องสอน)[1]), ขิงบ้าน, ขิงแครง, ขิงป่า, ขิงเขา, ขิงดอกเดียว (ภาคกลาง), เกีย (จีนแต้จิ๋ว)

สรรพคุณ

เหง้า : รสหวานเผ็ดร้อน ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ แก้บิด เจริญอากาศธาตุ สารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย จะออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ใช้เหง้าแก่ทุบหรือบดเป็นผง ชงน้ำดื่ม แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ เหง้าสด ตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ ขับเสมหะ [2]


ต้น : รสเผ็ดร้อน ขับลมให้ผายเรอ แก้จุกเสียด แก้ท้องร่วง

ใบ : รสเผ็ดร้อน บำรุงกำเดา แก้ฟกช้ำ แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ แก้โรคตา ฆ่าพยาธิ

ดอก : รสเผ็ดร้อน แก้โรคประสาทซึ่งทำให้ใจขุ่นมัว ช่วยย่อยอาหาร แก้ขัดปัสสาวะ

ราก : รสหวานเผ็ดร้อนขม แก้แน่น เจริญอาหาร แก้ลม แก้เสมหะ แก้บิด

ผล : รสหวานเผ็ด บำรุงน้ำนม แก้ไข้ แก้คอแห้ง เจ็บคอ แก้ตาฟาง เป็นยาอายุวัฒนะ

แก่น : ฝนทำยาแก้คัน

ขิง ยังมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย คือ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม วิตามินเอและอีกมากมาย ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยขับเหงื่อ ไล่ความเย็น ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร และทำให้ร่างกายอบอุ่น ในทางยานิยมใช้ขิงแก่ เพราะขิงยิ่งแก่จะยิ่งเผ็ดร้อนและมีใยอาหารมาก นำเหง้าสดย่างไฟให้สุก ตำผสมกับน้ำปูนใสคั้นเอาแต่น้ำดื่ม หรือนำเหง้าสดหมกไฟรับประทานเมื่อมีอาการเบื่ออาหาร [3]

คุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับจากการรับประทานขิง 100 กรัม
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับพลังงาน 25 กิโลแคลอรี่
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับโปรตีน 0.4 กรัม
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับคาร์โบไฮเดรท 4.4 กรัม
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับไขมัน 0.6 กรัม
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับเส้นใยอาหาร 0.8 กรัม
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับแคลเซียม 18 มิลลิกรัม
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับสารเบต้า-คาโรทีน 10 ไมโครกรัม
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับวิตามินซี 1 มิลลิกรัม
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับสารไธอะมีน 0.02 มิลลิกรัม
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับสารไนอะซีน 1 มิลลิกรัม
การรับประทานขิง 100 กรัม ได้รับสารไลโบฟลาวิน 0.02 มิลลิกรัม

สารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ

         ในเหง้าขิงมี น้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 1 - 3 % ขึ้นอยู่กับวิธีปลูกและช่วงการเก็บรักษา ในน้ำมันประกอบด้วยสารเคมี ที่สำคัญคือ ซิงจิเบอรีน (Zingiberene) , ซิงจิเบอรอล (Zingiberol) , ไบซาโบลี (bisabolene) และแคมฟีน (camphene) มีน้ำมัน (oleo - resin) ในปริมาณสูง เป็นส่วนที่ทำให้ขิงมีกลิ่นฉุน และมีรสเผ็ด ส่วนประกอบสำคัญ ในน้ำมันซัน ได้แก่ จินเจอรอล (gingerol) , โวกาออล (shogaol) , ซิงเจอโรน (zingerine) มีคุณสมบัติเป็นยากัดบูด กันหืน ใช้ใส่ในน้ำมันหรือไขมัน เพื่อป้องกันการบูดหืน สารที่ทำให้ขิงมีคุณสมบัติเป็นยากันบูด กันหืนได้คือ สารจำพวกฟีนนอลิค ง่าว

       ที่นี้เราลองมาทำน้ำขิงกินให้ลดความอ้วนกันดีกว่า  และสำหรับคนที่มีอาการเป็นหวัดด้วยค่ะ


ส่วนผสมในการทำเครื่องดื่ม “น้ำขิง”

ขิงแก่                                                1              กิโลกรัม
น้ำตาลทรายแดง                                  1              ถ้วยตวง
น้ำสะอาด                                           3              ลิตร

วิธีการทำเครื่องดื่ม น้ำขิง

เตรียมส่วนผสมข้างต้นให้ครบตามจำนวน
นำขิงแก่ไปล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นทุบให้ขิงแตก แล้วจึงนำใส่ในหม้อ เติมน้ำสะอาดลงไป ยกขึ้นตั้งไฟ
พอน้ำเดือดแล้วค่อยเบาไฟลง เคี่ยวจนน้ำขิงละลายออกมาจนหมด ให้สังเกตว่า น้ำจะเป็นสีเหลืองอ่อนๆ เคี่ยวต่อไปสักพัก หรืออย่างน้อยเคี่ยวประมาณ 15-20 นาที จึงยกลงจากเตา ในการดื่มน้ำขิงควรดื่มตอนร้อนๆ โดยการตักน้ำขิงใส่ในแก้ว แล้วเติมน้ำตาลทรายแดงลงไป 1-2 ช้อนชา แล้วแต่คนชอบ คนให้น้ำตาลทรายแดงละลายเข้ากับน้ำขิง รับรองซู่ซ่า ไม่แพ้กับการดื่ม ชาร้อน หรือกาแฟร้อน แถมการดื่มน้ำขิงยังได้คุณค่า มากกว่าอีกด้วย

     นอกจากการดื่มน้ำขิงแบบร้อนๆ แล้วยังสามารถดื่ม แก้กระหายแบบน้ำขิงเย็น ด้วยการใส่น้ำเข็งก้อน ลงไปได้อีกด้วย (หากจะดื่มน้ำขิงแบบเย็นต้องเติมน้ำตาล มากกว่าเดิมเป็น 2-3 เท่า เนื่องจากมีน้ำแข็งอยู่ด้วย ถ้าเติมน้ำตาลในปริมาณ เท่ากับ การดื่มแบบ น้ำขิงร้อน รสชาติจะจืดมากเกินไปนั่นเอง)

      ส่วนคนที่มีอาการหวัดก็ทำได้ง่ายๆเช่นกัน โดยทำดังนี้ คล้ายๆกับสูตรข้างบน เพียงแค่ใช้เหง้าขิงสด  ขนาดเท่าหัวแม่มือ ทุบพอแตก นำไปต้มให้เดือดจากนั้นนำน้ำมาดื่ม หากมีอาการไอร่วมด้วยอาจผสมน้ำผึ้งในน้ำขิง  หรืออาจเติมเกลือลงในน้ำขิงเล็กน้อยเนื่องจากเกลือจะช่วยขับเสมหะที่ติดในลำคอออกมา ถ้าใครเป็นหวัดต้องจับมาจิบน้ำขิง  บ่อยๆ แทนน้ำ รับรองอาการหวัดหายเป็นปลิดทิ้งแน่นอนจ้าาา....

ที่มา--wikipedia.org, หนังสือสมุนไพรไทยคู่บ้าน