26.10.11

ความรู้เรื่องคลองฉบับน้ำท่วมกรุงกับ ประภัสสร เสวิกุล



ความรู้เรื่องคลองฉบับน้ำท่วมกรุงเทพฯ : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล
         บางท่านอาจจะไม่เคยทราบว่า แต่เดิมนั้นกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน กับฝั่งธนบุรี เป็นแผ่นดินผืนเดียวกัน มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยาอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาในอดีตนั้นไหลคดเคี้ยว ถ้าจะพูดให้เห็นภาพอย่างชัดเจนก็คือ ไหลมาจากทางเหนือผ่าน จ.นนทบุรี มาถึงบริเวณที่เป็นสะพานพระปิ่นเกล้าแล้วไหลไปทางตะวันตกเข้าคลองบางกอกน้อย อ้อมไปตลิ่งชัน บางระมาด แล้วจึงวกกลับมาเข้าคลองบางหลวง จากนั้นจึงไหลไปออกทะเลที่อ่าวไทย จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช จึงโปรดให้ขุดคลองลัดบางกอกขึ้นเพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา จากหน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อย ถึงหน้าวัดอรุณราชวราราม ในปัจจุบัน เพื่อร่นเวลาการเดินทางระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน และเซาะตลิ่งสองข้างจนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนเส้นทางเดิมก็ค่อยๆ ตื้นเขิน กลายเป็นลำคลองต่างๆ ได้แก่ คลองบางกอกน้อย คลองชักพระ คลองบางขุนศรี คลองบางเชือกหนัง คลองวัดประดู่ และคลองบางกอกใหญ่



              ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในระยะแรกการขุดคลองเป็นไปเพื่อสร้างแนวป้องกันพระนคร นอกเหนือจากคลองคูเมืองเดิม (คลองผดุงกรุงเกษม) ซึ่งมีมาแต่สมัยกรุงธนบุรี ก็มี คลองรอบกรุง (คลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่าง) คลองหลอด ส่วนคลองมหานาคนั้นขุดขึ้นเพื่อฟื้นฟูประเพณีและจิตใจชาวเมืองซึ่งยังมีความ อาลัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองแสนแสบจากหัวหมากไปบางขนาก จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงอาหารแก่กองทัพไทยในการทำสงครามกับเวียดนาม หลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ข้าวกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย จึงมีการขุดคลองเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกและการขนส่งข้าว

              ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเปรมประชากรขึ้น เมื่อ พ.ศ.2413 ตั้งต้นจากคลองผดุงกรุงเกษม หน้าวัดโสมนัสวิหาร ไปออกที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อความสะดวกในการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ กับพระนครศรีอยุธยา และขยายพื้นที่เพาะปลูก ต่อมาในปี พ.ศ.2433-2448 โปรดให้บริษัท ขุดคูคลองและนาสยาม จำกัด ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ในภาคกลางให้เป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ โครงการนี้มีพื้นที่ประมาณ 8 แสน-1.5 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นครนายก พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี อันนับเป็นการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเกษตรของไทย และทำให้พื้นที่ในโครงการเป็นแหล่งผลิตข้าวประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของทั่วประเทศ ในชั้นแรกคลองนี้มีชื่อเรียกว่าคลองเจ้าสาย ตามพระนามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ซึ่งทรงเป็นหุ้นส่วนในบริษัท หรือคลองแปดวา ตามความกว้างของคลอง ต่อมาได้พระราชทานนามว่าคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งเป็นนัดดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์

              ทางฝั่งธนบุรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ขุดคลองภาษีเจริญในบริเวณคลองบางกอกใหญ่และคลองบางขุนศรีมาบรรจบกัน ไปเชื่อมกับแม่น้ำท่าจีนที่ดอนไก่ดี จ.สมุทรสาคร ความยาว 28 กิโลเมตร โดยโปรดให้พระยาภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) เจ้าภาษีฝิ่นเป็นแม่กองขุด ใช้เงินพระราชทานจากภาษีฝิ่น จำนวน 112,000 บาท และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดคลอง เมื่อปี พ.ศ.2415 สำหรับคลองมหาสวัสดิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นก่อน เมื่อปี พ.ศ.2402 เพื่อเชื่อมแม่น้ำนครชัยศรีกับแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับเป็นเส้นทางในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ มีความยาว 28 กิโลเมตร

              ส่วนคลองทวีวัฒนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นใน พ.ศ.2421 เป็นคลองแรกในรัชกาลเพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน เริ่มต้นจากคลองภาษีเจริญตรงรอยต่อระหว่างบางแคกับหนองแขมไปลงแม่น้ำท่าจีน ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ความยาว 35.2 กิโลเมตร

              คลองในกรุงเทพฯ ที่ขุดขึ้นโดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการเกษตร การคมนาคม หรือการศึกสงคราม ก็คือคลองประปา โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริเมื่อปี พ.ศ.2446 ให้นำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาผลิตเป็นน้ำสะอาด โดยโปรดให้ขุดคลองประปา จากวัดสำแล จ.ปทุมธานี  มายังโรงกรองน้ำสามเสน แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2457

credit--komchadluek.net