13.4.12

4. พระพิฆเนศ วัดวิษณุ สมาคมฮินดูธรรมสภา

 

      เมื่อเอ่ยถึงชื่อ "วัดวิษณุ" เทวาลัยฮินดูในย่านยานนาวา คนกรุงเทพฯ หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยเท่ากับ "วัดแขก" ถนนสีลม หรือ "วิหารเทพมณเฑียร" ย่านเสาชิงช้า แต่หากศึกษาถึงต้นรากทางวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ จะพบว่า "วัดวิษณุ" คือองคาพยพสำคัญที่สะท้อนภาพความสัมพันธ์ไทย-อินเดียได้อย่างแนบแน่นและกลม เกลียว เนื่องจากวัดวิษณุถือเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวฮินดูจากรัฐอุตตรประเทศ(อินเดียเหนือ)ในเขตกรุงเทพ ตลอดจนได้รับการยกย่องว่าเป็นเทวาลัยที่มีความโดดเด่นในภูมิภาคอุษาคเนย์ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานรูปเทพเจ้าฮินดูสลักจากหินอ่อนซึ่งมีลักษณะงดงาม ได้สัดส่วนถึง๒๔ องค์ 
ความสำคัญของวัดวิษณุส่งผลให้การศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียผ่าน มิติชุมชนอันสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และประวัติศาสตร์การทูต กลายมาเป็นประเด็นที่มีสีสัน ตลอดจนยังเป็นการเปิดมุมมองใหม่ทางด้านพหุลักษณ์เชิงวัฒนธรรม (Cultural Diversity) ให้กับสังคมไทยยุคปัจจุบัน

อุตตรประเทศ: ดินแดนหัวใจแห่งอารยธรรมภารตะ

     การศึกษาประวัติความเป็นมาของวัดวิษณุและการอพยพของชาวอินเดียเหนือ เข้าสู่สังคมไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจถึงความสำคัญของอุตตรประเทศในบริบทและโลกทัศน์ ของชาวอินเดีย คำว่า "อุตตรประเทศ" (Uttar Pradesh) คือชื่อของรัฐและเขตการปกครองที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของประเทศอินเดียโดยมี อาณาเขตทางทิศเหนือติดต่อกับรัฐหิมาจัลประเทศ (Himachal Pradesh) รัฐอุตตรรันจัล (Uttaranchal) และประเทศเนปาล ทิศตะวันตกติดกับรัฐหรยาณา (Haryana) และรัฐราชสถาน (Rajasthan) ทิศใต้ติดต่อกับรัฐมัธยประเทศ (Madhya Pradesh) ทิศตะวันออกติดต่อกับรัฐพิหาร (Bihar) และทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อกับรัฐชาดติสการ์ (Chhattisgarh) และรัฐจาร์คาน (Jharkhand)

     ลักษณะภูมิประเทศอันเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำคงคาและยมุนา ผสมผสานกับแนวเทือกเขาหิมาลัยที่ตั้งตระหง่าน ส่งผลให้อุตตรประเทศกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ มีชื่อเสียงของประเทศอินเดีย

    ขณะเดียวกันประติมากรรมทางภูมิศาสตร์และความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินก็ส่งผลให้อุตตรประเทศ กลายเป็นดินแดนหัวใจแห่งการรังสรรค์ทางศิลปะ ตลอดจนเป็นต้นรากทางอารยธรรมของชาวฮินดูยุคโบราณ สังเกตได้จากการแพร่กระจายของศิลปะแบบคันธาระ (Gandhara) มถุรา (Mathura) อมราวดี (Amaravati) คุปตะ (Gupta) และปาละ-เสนะ (Pala-Sena) ในเขตแว่นแคว้นอุตตรประเทศ2 ประกอบกับการขยายตัวทางการเมืองและการทหารของรัฐฮินดูยุคจารีต ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์โมริยะ (Mauryan) ราชวงศ์กาศี (Kashi) และราชวงศ์คุปตะ (Gupta) ก็ล้วนมีขอบข่ายปริมณฑลแห่งอำนาจครอบคลุมอินเดียตอนเหนือในเขตลุ่มแม่น้ำคง คาและยมุนา

   นอกจากนี้อุตตรประเทศยังเป็นที่ตั้งของเมืองพาราณสี (Varanasi) ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าสามพันปี และเป็นต้นกำเนิดของประเพณีลอยศพและชำระบาปในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงเป็นศูนย์กลางการจาริกแสวงบุญของชาวฮินดูจากทั่วทุกสารทิศ

    ดินแดนอุตตรประเทศยังได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางของไวษณพ นิกายลัทธิฮินดูที่นับถือพระวิษณุ หรือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด เห็นได้จากเมืองโบราณที่สัมพันธ์กับภาคอวตารของพระวิษณุ (Avatar or Vishnu Reincarnation) อาทิ เมืองอโยธยา (Ayodhya) ศูนย์อำนาจการปกครองของท้าวทศรถ กษัตริย์แห่งสุริยวงศ์ (Solar Dynasty) และสถานที่พระราชสมภพของพระราม ร่างอวตารภาคที่เจ็ดของพระวิษณุ และวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหากาพย์รามายณะ เมืองลัคเนา (Lucknow) ซึ่งเคยได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองของพระลักษณ์ พระอนุชาของพระราม และทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศในยุคปัจจุบัน เมืองหัสดินปุระ (Hastinapura) ราชธานีของกษัตริย์ศานตนุแห่งจันทวงศ์ (Lunar Dynasty) และเป็นจุดกำเนิดของเหล่าเจ้าชายตระกูลปาณฑพ (Pandu) และเการพ (Kurus) ในมหากาพย์มหาภารตะ

     และเมืองมถุรา (Mathura) ซึ่งนอกจากจะเคยเป็นบ่อเกิดของศิลปะแบบมถุราที่แพร่กระจายในเขตอินเดียภาค เหนือแล้ว ยังเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระกฤษณะ ร่างอวตารภาคที่แปดของพระวิษณุ และมหาบุรุษผู้ขับรถศึกให้พระอรชุนในมหากาพย์มหาภารตะ

     จากบริบทดังกล่าว รัฐอุตตรประเทศจึงเป็นอู่อารยธรรมอันเก่าแก่ของโลกฮินดู ทั้งในแง่ของปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม การขยายปริมณฑลทางการเมือง และความรุ่งเรืองของวรรณคดีโบราณ นอกจากนี้ดินแดนของรัฐอุตตรประเทศยังมีส่วนสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาและโลกอิสลาม เนื่องจากเป็นที่ตั้งของเมืองสารนาถ (Saranaj) และป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่แสดงปฐมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมืองอักรา (Agra) ศูนย์อำนาจของจักรวรรดิโมกุลอันทรงพลานุภาพ และที่ตั้งของสุสานทัชมาฮาล - อนุสรณ์แห่งความรัก หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

      ดังนั้นอุตตรประเทศจึงเป็นดินแดนหัวใจที่ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการก่อรูปของ อารยธรรมฮินดู รวมถึงมีส่วนคาบเกี่ยวกับการขยายตัวของอิทธิพลพระพุทธศาสนาในแผ่นดินอุษาคเนย์ และกระบวนการผ่องถ่ายอารยธรรมอิสลามในชมพูทวีป

     การอพยพและตั้งถิ่นฐานของชาวอุตตรประเทศในเขตกรุงเทพ
กระบวนการอพยพของชาวฮินดูเข้าสู่เขตกรุงเทพเริ่มก่อตัวขึ้น 
พร้อมกับการขยายตัวของลัทธิอาณานิคมอังกฤษในเขตประเทศอินเดียและภูมิภาค เอเชียอาคเนย์

    ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ กองทัพของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้ยาตราทัพเข้ายึดเมืองท่ากัลกัต ตา (Calcutta) หลังประสบชัยชนะสงครามที่ตำบลปรัสซี (Battle of Plassey) เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๐

      การครอบครองเมืองกัลกัตตาซึ่งตั้งอยู่ริมปากแม่น้ำฮูกลี (Hugli) อันเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำคงคา นอกจากจะทำให้อังกฤษสามารถควบคุมการค้าในรัฐเบงกอลได้สะดวกแล้ว ยังส่งผลให้อำนาจการปกครองของอังกฤษแผ่อิทธิพลเข้าปกคลุมหัวเมืองต่างๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำคงคาแถบรัฐอุตตรประเทศ

       ต่อมารัฐบาลอังกฤษได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการปกครองอินเดียฉบับปี พ.ศ. ๒๓๑๖ เพื่อเพิ่มอำนาจของรัฐบาลในการควบคุมพฤติกรรมของบริษัทอินเดียตะวันออก ตลอดจนแต่งตั้งนายวอร์เรน เฮสติงส์ (Warren Hastings) ขึ้นเป็นข้าหลวงใหญ่อังกฤษคนแรกประจำอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗

       การเปลี่ยนแปลงนโยบายของอังกฤษส่งผลให้เมืองท่าชายฝั่ง ทะเลและหัวเมืองตอนในแถบรัฐอุตตรประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษแบบ เต็มตัว ครั้นต่อมา บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้ว่าจ้างชาวพื้นเมืองอินเดียมาฝึกเป็นทหาร ตามแบบตะวันตก เรียกว่า ทหารซีปอย (Sepoys) เพื่อรักษาความปลอดภัยและพิทักษ์ผลประโยชน์ทางการค้าให้บริษัท แต่นโยบายดังกล่าวกลับส่งผลกระทบเชิงลบต่ออังกฤษ เนื่องจากกำลังพลส่วนใหญ่ของทหารซีปอยล้วนมาจากพราหมณ์และชนชั้นสูงในเขตอุ ตตรประเทศ ทหารเหล่านี้เคยชินต่อการมีสิทธิพิเศษตามระบบวรรณะ และหวาดระแวงต่อพฤติกรรมของอังกฤษที่นำเอาวัฒนธรรมตะวันตกและคริสต์ศาสนา เข้ามาครอบงำวัฒนธรรมฮินดู

      นอกจากนี้พวกพราหมณ์อุตตรประเทศที่สูญเสียผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายของอังกฤษ อาทิเช่น การอนุญาตให้บาทหลวงบางรูปแสดงอาการเหยียดหยามศาสนาฮินดู และการประกาศเวนคืนที่ดินซึ่งเคยอยู่ในการครอบครองของวรรณะพราหมณ์ ยังได้คอยยุยงให้กลุ่มทหารซีปอยแข็งข้อต่อต้านอำนาจการปกครองของอังกฤษ

       จนในที่สุดการก่อกบฎได้เริ่มปะทุขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๐๐ - ๒๔๐๒ เหตุการณ์ส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นในรัฐอุตตรประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองมีรุต (Meerut) และลัคเนา (Lucknow) จากเหตุการณ์ดังกล่าว อังกฤษได้เพิ่มงบประมาณทางการทหาร ว่าจ้างแขกสิกข์และนักรบกูรข่าเข้ามาเป็นทหารรับจ้าง เพื่อปราบกบฏซีปอย ส่งผลให้อังกฤษประสบความสำเร็จในการนำอินเดียกลับคืนสู่สภาวะปกติ

       ผลของกบฏซีปอยทำให้อังกฤษประกาศยกเลิกการปกครองของบริษัทอินเดีย ตะวันออก และโอนหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งหมดมาเป็นของรัฐบาลกลางและรัฐสภา รวมถึงปรับโครงสร้างกำลังรบของกองทัพ เลิกจ้างพราหมณ์อุตตรประเทศ แล้วหันมาจ้างพวกแขกสิกข์ แขกปาธาน และพวกนักรบกูรข่าจากเนปาลเข้ามาเป็นทหารประจำการแทน

      ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชนชั้นสูงในอุตตรประเทศ เริ่มร่วมมือกับชาวฮินดูกลุ่มต่างๆ จัดตั้งขบวนการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ จนถึงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตลอดจนเริ่มเกิดการอพยพของชาวฮินดูอุตตรประเทศไปยังดินแดนต่างๆ อาทิเช่นตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อปลุกระดมลัทธิชาตินิยมและสร้างฐานที่มั่นในการปลดแอกอินเดียออกจาก อาณานิคมอังกฤษ

      ขณะเดียวกันพราหมณ์อุตตรประเทศที่เคยรับราชการเป็นทหารซีปอยก็ปรับเปลี่ยนบทบาทและแปลง สภาพเป็นกองกำลังกู้เอกราช รวมถึงเดินทางออกจากอินเดียเพื่อประกอบอาชีพเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยใน บริษัทต่างประเทศ สืบเนื่องจากลักษณะร่างกายที่กำยำและสูงใหญ่ ผสมผสานกับประสบการณ์จากการเป็นทหารซีปอย ทำให้บริษัทเอกชนในประเทศต่างๆ นิยมว่าจ้างแขกอุตตรประเทศเข้ามาพิทักษ์ทรัพย์สินและรักษาความปลอดภัย

     การอพยพของชาวอุตตรประเทศเข้าสู่ประเทศไทยนั้น จัดว่ามีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับขบวนการชาตินิยมและการแสวงหาที่ทำกิน ในต่างแดน อันเป็นผลมาจากสภาวะข้าวยากหมากแพงและปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของ ประชากรในอินเดีย

     ชาวอุตตรประเทศส่วนใหญ่มักมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กรุงเทพ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นศูนย์อำนาจที่ปลอดจากอิทธิพลของอังกฤษ เมื่อเทียบกับกรุงย่างกุ้งของพม่า หรือสิงคโปร์ในคาบสมุทรมลายู

      ขณะเดียวกันการอพยพของแขกอุตตรประเทศก็มีลักษณะปะปนมากับแขกฮินดูกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเบงกอล ทมิฬ สิกข์ และราชปุต ซึ่งเริ่มไม่พอใจการปกครองที่เข้มงวดของรัฐบาลอังกฤษ

     เส้นทางการอพยพของแขกฮินดูเข้าสู่เขตกรุงเทพมหานครสามารถแบ่งออก ได้เป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่เส้นทางอพยพทางทะเลผ่านหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ตัดเข้าสู่สิงคโปร์ มะละกา (Melaka) มาเลเซีย จากนั้นเดินทางโดยรถไฟเข้าสู่ภาคใต้ของไทยและกรุงเทพมหานคร

     ส่วนเส้นทางสายที่สองเป็นการอพยพทางบก เริ่มจากอินเดียเข้าสู่จิตตะกอง (Chittagong) ในบังคลาเทศ จากนั้นจึงเดินทางโดยรถไฟเข้าสู่ประเทศพม่าและภาคเหนือของไทย แล้วจึงลงใต้เข้าสู่กรุงเทพฯ

กลุ่มผู้อพยพชาวฮินดูนั้นมีความหลากหลาย แบ่งออกได้เป็นห้ากลุ่มหลักดังนี้

๑) กลุ่มชาวฮินดูจากอุตตรประเทศทางตอนเหนือของอินเดีย ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากเมืองลัคเนา อโยธยา และพาราณสี มักประกอบอาชีพส่งหนังสือพิมพ์ ขายนมวัว และพนักงานรักษาความปลอดภัยในบริษัทต่างประเทศ อาทิ บริษัทอีสต์เอเชียติก (East Asiatic Company) ลักษณะเด่นของชาวฮินดูอุตตรประเทศ คือการนับถือพระวิษณุ โดยมีการจัดตั้งชุมชนในเขตสาทรและยานนาวา ตลอดจนจัดสร้างวัดวิษณุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวอินเดียเหนือในเขตกรุงเทพมหานคร

๒) กลุ่มชาวฮินดูจากทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) อพยพมาจากตอนใต้ของอินเดีย และทางตอนเหนือของศรีลังกาแถวคาบสมุทรจาฟนา ส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ พนักงานบริษัทต่างประเทศ และค้าขายทั่วไป ลักษณะเด่นของกลุ่มแขกทมิฬคือการบูชาพระศิวะและพระอุมาอย่างเหนียวแน่น จนนำไปสู่การสร้างวัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือที่รู้จักกันดีว่า “วัดแขกสีลม” ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ เพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการประกอบกิจกรรมของชาวฮินดูจากอินเดียใต้

๓) กลุ่มชาวฮินดูจากแคว้นซินด์ (Sind) และปัญจาบ (Punjab) ซึ่งเข้ามาประกอบธุรกิจทอผ้าและนำเข้าส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ชาวอินเดียกลุ่มดังกล่าวมักตั้งถิ่นฐานอยู่แถวสำเพ็งและพาหุรัดโดยถึงแม้ว่า ประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาสิกข์และมีศูนย์กลางอยู่ที่คุรุสิงหสภาในย่าน พาหุรัด แต่ก็มีชาวอินเดียบางกลุ่มนับถือศาสนาฮินดู และแยกตัวออกมาจัดตั้งวิหารเทพมณเฑียร ถนนศิริพงศ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวฮินดูจากรัฐซินด์และปัญจาบ

๔) กลุ่มชาวฮินดูจากคุชราต (Gujarat) และราชสถาน (Rajasthan) มักประกอบอาชีพค้าขาย ส่งออก และเจียระไนอัญมณี ตั้งถิ่นฐานอยู่แถวถนนสีลมและสาทร กลุ่มนี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญในสมัยอาณานิคมและช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เนื่องจากทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างไทย อินเดีย และตะวันออกกลาง

๕) กลุ่มชาวฮินดูจากเบงกอล อพยพมาจากเมืองกัลกัตตาของอินเดีย เมืองธาร์กา (Dhaka) และจิตตะกองในบังคลาเทศตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพขายถั่ว เครื่องเทศ และเครื่องหอมบูชาเทพเจ้า กลุ่มแขกเบงกอลมักนับถือศาสนาอิสลามแต่ก็มีบางส่วนนับถือศาสนาฮินดู อพยพเข้ามาอาศัยอยู่กับแขกทมิฬในย่านวัดแขกและถนนสีลม

      ในระยะเริ่มแรกการตั้งถิ่นฐานของชาวฮินดูกลุ่มต่างๆ มักกระจุกตัวอยู่ในบริเวณชุมชนแออัดและย่านธุรกิจสำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร อาทิเช่น สีลม พาหุรัด และยานนาวา แขกอุตตรประเทศนั้นพำนักอาศัยอยู่ร่วมกับกับแขกทมิฬแถววัดพระศรีมหาอุมาเทวี ขณะที่บางส่วนกระจัดกระจายอยู่ตามบ้านพักของบริษัทต่างประเทศแถบสาทรและ ยานนาวา

    ต่อมาการตั้งถิ่นฐานของชาวอุตตรประเทศแถวถนนสีลมได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความแตกต่างระหว่างไวษณพนิกายของชาวอินเดียเหนือกับไศวนิกายและ ศักตินิกายของชาวอินเดียใต้ ส่งผลให้ชาวฮินดูอุตตรประเทศตัดสินใจสร้างเทวาลัยวัดวิษณุบริเวณยานนาวา เพื่อเป็นศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรม ตลอดจนลดปัญหาความแออัดของประชากรบริเวณวัดแขก

     หลังจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ การตั้งถิ่นฐานของชาวอุตตรประเทศและชุมชนฮินดูกลุ่มอื่นๆ ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องจากยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูต การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ รวมถึงการอพยพเข้ามาค้าขายและศึกษาเล่าเรียนของชาวฮินดูตามคำเชื้อเชิญของ ญาติพี่น้องในเมืองไทย

      ปัจจุบันมีชาวฮินดูตั้งหลักแหล่งอยู่แถวถนนสีลม,
สาทร,ยานนาวาม,พาหุรัด,สี่แยกบ้านแขก,ถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ซอย ๑ ถึง ๘๑ (แต่ละซอยประกอบด้วยชุมชนชาวฮินดูประมาณ ๕ – ๑๐ ครัวเรือน)


ต้นรากและอัตลักษณ์ชุมชนชาวอุตตรประเทศในเขตวัดวิษณุ

วัดวิษณุ ตั้งอยู่เลขที่ ๕๐ ซอยวัดปรก แขวงทุ่งวัดดอน ยานนาวา จัดตั้งขึ้นโดยชาวอินเดียที่มาจากแคว้นอุตตรประเทศ หรือที่เรียกกันว่า “พวกยูพี” (U.P. - United Province or Uttra Pradesh) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยมีคณะกรรมการบริหารงานชุดหนึ่ง ซึ่งเลือกตั้งมาจากสมาชิกสามัญทุกๆ ปี คณะกรรมการบริหารได้ร่วมกับชาวอินเดียในประเทศไทยจัดซื้อที่ดินและสร้าง เทวาลัยหลังแรกขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาฮินดูและประดิษฐานเทวรูปรามจันทราวตาร

หลังจากนั้นจึงมีการสร้างห้องสมุดวัดวิษณุ สุสานฮินดู ศิวาลัย และเทวาลัยพระศรีหนุมาน ความสำเร็จของการจัดสร้างเทวาลัยวัดวิษณุ นอกจากจะเกิดจากการเรี่ยไรเงินของชาวอุตตรประเทศและชาวฮินดูกลุ่มอื่นๆ แล้ว ยังมีหัวหน้าคณะวิศวกรชาวอังกฤษในบริษัทอีสต์เอเชียติกร่วมบริจาคเงินสมทบ

แต่เนื่องจากพื้นที่ของวัดมีขนาดค่อนข้างคับแคบ จึงจัดสร้างเทวาลัยขนาดย่อมเพื่อประกอบพิธีกรรมแต่พอสังเขป ส่วนสาเหตุที่เลือกซื้อที่ดินแถวยานนาวาเพื่อสร้างเป็นเทวาลัยนั้น สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อน ที่ดินย่านดังกล่าวมีราคาถูก ประกอบกับชาวอุตตรประเทศก็ประกอบอาชีพอยู่แถววัดดอนและถนนตกมากกว่าย่าน อื่นๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงสะดวกต่อการติดต่อและไปมาหาสู่

นอกจากนี้ ลักษณะภูมิศาสตร์ของเขตยานนาวาซึ่งประกอบด้วยที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาสลับ กับที่ดอนยังมีความสอดคล้องกับลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียเหนือตาม เมืองพาราณศรีและอโยธยา ซึ่งมักตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ดอน แต่ไม่ไกลจากชายฝั่งแม่น้ำคงคาและสาขามากนัก

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ศาสนิกชนชาวอุตตรประเทศได้ตัดสินใจสร้างเทวาลัยหลังใหม่ ให้มีความยิ่งใหญ่อลังการสมกับพระเกียรติยศขององค์พระวิษณุ โดยมีนายอมรนารถ สัจเทว และนายตริโลกนาถ ปาวา เดินทางไปศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมวัดฮินดูในเขตอุตตรประเทศ ตลอดจนสั่งซื้อเทวรูปหินอ่อนจากเมืองชัยปุระ (Jaipur) ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงทางด้านประติมากรรมหินอ่อนในเขตราชสถาน

ต่อมา ระหว่างช่วงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๘ จนถึง ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ บัณฑิตวิทยาธร สุกุล ประธานปูชารีวัดวิษณุ ได้บำเพ็ญตบะปฏิบัติชปโยคะระหว่างปีมานวกัลยาณยัญญ์ ซึ่งเป็นการบำเพ็ญโยคะตามแบบฮินดูแท้ โดยบัณฑิตวิทยาธรได้บำเพ็ญบารมีอยู่แต่ภายในเทวาลัยวัดวิษณุเป็นเวลาหนึ่งปี เต็ม โดยไม่พูด ไม่บริโภคอาหารที่สุกด้วยไฟ ไม่ออกจากเทวาลัย และเข้าภาวนาวันละ ๘ ชั่วโมง การบำเพ็ญเพียรในลักษณะดังกล่าวจัดเป็นการสร้างมหากุศลอันแรงกล้า ตลอดจนเป็นการบันดาลสิริมงคลอันสูงส่งให้แก่มหาบุรุษผู้ได้รับพรจากนักพรต

หลังจากการเสร็จสิ้นพิธีปฏิบัติชปโยคะ บัณฑิตวิทยาธรได้เดินทางไปถวายพระพรอันเกิดจากการบำเพ็ญพรตแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นการประทานพรแด่มหาบุรุษผู้เป็นหลักชัยแห่งสยามประเทศ

เหตุการณ์ดังกล่าวจัดเป็นเหตุการณ์สำคัญ ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การทูตไทยสมัยใหม่

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ ๔๐๐ ปี หนังสือรามจริตมานัส ของท่านตุลสีทาส มหากวีอินเดียผู้ยิ่งใหญ่ ภายในบริเวณวัดวิษณุ โดยมีท่านศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นประธานกรรมการ รับหน้าที่ทำพิธีเปิดงานแทนนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ นายศรีวิทยาจรณะ สุกลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงผลิตอาวุธ แห่งรัฐบาลอินเดีย ผู้เป็นประธานกรรมการจัดงานฉลองครบรอบ ๔๐๐ ปี หนังสือรามจริตมานัส ในระดับโลก ยังได้มาร่วมงานและร่วมประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ฮินดูอีกด้วย

วัดวิษณุนอกจากจะเป็นศูนย์กลางของชาวฮินดูอุตตรประเทศ และเป็นต้นแบบของไวษณพนิกายในเขตกรุงเทพมหานครแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของสมาคมฮินดูธรรมสภา (Hindu Dhama Sabha Association) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือและพัฒนาชุมชนฮินดูใน เขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

สมาคมฮินดูธรรมสภาจัดเป็นองค์การที่ทางราชการไทยให้การรับรอง สังกัดแผนกองค์การศาสนาภายในประเทศ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ และแผนกส่งเสริมศีลธรรม และจิตใจ แห่งสภาสังคมสงเคราะห์ สมาคมฮินดูธรรมสภาได้ให้ความร่วมมือแก่ทั้งทางราชการและองค์กรการกุศลต่างๆ ตลอดถึงองค์การเอกชนในกิจการด้านศาสนาพราหมณ์ฮินดูด้วยดีเสมอมา นอกจากนี้ ทางราชการก็ได้จัดสรรเงินรายได้ส่วนศาสนูปถัมภ์ให้แก่ฮินดูธรรมสภาวัดวิษณุ เป็นประจำทุกปี ตามกำลังงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ

ขณะเดียวกัน วัดวิษณุยังทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยมีการจัดหาที่พักให้กับนักบวชที่เดินทางมาจากอินเดีย ผ่านการประสานงานของสมาคมฮินดูธรรมสภา ตลอดจนเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของนักธุรกิจฮินดูและชาวอินเดียเชื้อสายอุตตร ประเทศที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร

ในปัจจุบัน บัณฑิตวิทยาธร สุกุล จัดเป็นเสาหลักในการประกอบพิธีกรรมภายในวัดวิษณุ โดยมี บัณฑิตพินเธศวรี สุกุล บุตรชาย ดำรงตำแหน่งประธานปูชารี

นายกฤษณะ ดี อุปเดียร์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนฮินดูประจำเขตยานนาวา ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฮินดูธรรมสภาคนล่าสุด

ชาวฮินดูอุตตรประเทศที่อาศัยอยู่ในย่านยานนาวาและบริเวณข้างเคียง อาทิเช่น สาทร สุขุมวิท และสี่แยกบ้านแขก ก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีตระกูลสำคัญ ได้แก่ตระกูลซาฮี, มิสรา, อุปเดียร์, ตีวารี, ปานเดย์, จันด์, ซิงห์ และยาดา

กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนสืบเชื้อสายมาจากแขกอุตตรประเทศในช่วงเจ็ดสิบถึงหนึ่ง ร้อยห้าสิบปีที่แล้ว


ในเชิงรูปแบบ สถาปัตยกรรม บริเวณวัดวิษณุ นอกจากจะประกอบไปด้วยมหามณเฑียรที่ประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุ ซึ่งสะท้อนถึงอิทธิพลของไวษณพนิกายตามแบบอินเดียเหนือแล้ว ด้านนอกยังมีวิหารขนาดเล็ก ประดิษฐานเทวรูปพระศรีหนุมาน หอพระศิวะ หอพระนางทุรคาเทวี หอพระลักษมี หอเทวดานพเคราะห์ และหอสมุดวัดวิษณุ


      มหามณเฑียรหรือเทวาลัยหลังใหม่ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๔๔ จัดว่ามีความใหญ่โตและงดงามมาก ตัวอาคารก่อสร้างด้วยหินอ่อนสีขาว มียอดปราสาทแบบศิขร ซึ่งเป็นการจำลองยอดเขาหิมาลัยอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เทคนิคการก่อสร้างดังกล่าวได้รับความนิยมมากในเขตอินเดียเหนือและอินเดีย ตะวันตกแถบรัฐราชสถาน บริเวณห้องโถงของมหามณเฑียรเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปหินอ่อนที่สั่งตรงมาจาก เมืองชัยปุระ ประกอบไปด้วยเทวรูปพระวิษณุ - พระลักษมี พระราม - นางสีดา พระลักษณ์ พระภรต พระศัตรุฆน์ ศรีหนุมานตอนแบกต้นสังกรณีตรีชวา พระกฤษณะ - นางราธา พระพิฆเนศ ขนาบด้วยรูปหินอ่อนขนาดเล็กของพระนางพุทธิและสิทธิ พระชายา รวมถึงพระพุทธรูปหินอ่อนซึ่งเป็นศิลปะแบบปาละ

      ห้องโถงภายในมหามณเฑียร นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปซึ่งเป็นที่นิยมตามแบบไวษณพนิกายในอุตตร ประเทศแล้ว ยังเป็นที่ประกอบพิธีกรรม ตลอดจนกิจกรรมรื่นเริงทางศาสนา โดยมักมีทั้งชาวอุตตรประเทศและชาวฮินดูกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนร่วมกันอ่านบทโศลกของมหากาพย์รามายณะและคัมภีร์ภควัทคีตาในมหากาพย์ มหาภารตะ เป็นประจำทุกวัน




          เมื่อเข้ามาในวัดวิษณุจะเห็นโบสถ์หลังใหญ่ที่มีสีขาวสะอาดตา ลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายพุทธคยาที่ประเทศอินเดียแลดูโอ่อ่าสง่างาม ภายในก็ยิ่งดูโอ่โถงกว้างขวาง เบื้องหน้าเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพทวยเทพของศาสนาฮินดู ที่ตรงกลางคือ พระวิษณุและพระแม่ลักษมี
              
          โดยพระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ คือมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งแห่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นหนึ่งใน3 มหาเทพสูงสุด อันได้แก่ พระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ เชื่อกันว่า พระวิษณุ ทรงมีเทวานุภาพขจัดเหล่ามารและสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ทรงล่วงรู้ความเป็นไปทุกอย่าง ทรงตัดสินปัญหาด้วยสำนึกอันสูงสุดแห่งพระเป็นเจ้า ทรงขจัดบาปและความขัดข้องแก่ผู้ปฏิบัติโยคะและนั่งสมาธิระลึกถึงพระองค์ อสูรและเหล่ามารทุกตนล้วนแล้วแต่เกรงกลัวอานุภาพแห่งพระองค์ประทับบนพญานาคอันเป็นบัลลังค์บริวาร ณ เกษียรสมุทร เป็นองค์ประธานภายในวัด

พระวิษณุมีพระชายาคือ พระแม่ลักษมี พระแม่เจ้า ผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ และความผาสุกแก่ผู้ศรัทธา ผู้ซึ่งคอยอยู่เคียงข้างพระวิษณุ และคอยอวตารไปเป็นชายาพระวิษณุในทุกๆภารกิจ 
ด้านซ้ายมือของเทพองค์ประธานพระวิษณุก็คือ พระกฤษณะและราธาเทวี อีกปางอวตารของพระวิษณุและพระแม่ลักษมี ซึ่งพระกฤษณะ เป็นมหาเทพผู้ให้กำเนิดคัมภีร์ภควัทคีตา ในมหากาพย์เรื่องมหาภารตะ

 ถัดออกไปริมสุดด้านขวามือของเราก็คือ พระพุทธเจ้า อันถือว่าเป็นอีกปางอวตารของพระวิษณุตามคัมภีร์ของชาวฮินดู

ส่วนทางด้านขวามือของเทพองค์ประธานคือ พระรามและพระนางสีดา อีกปางอวตารพระวิษณุและพระแม่ลักษมี โดยพระราม ถือเป็นมหาเทพแห่งความยุติธรรม ในมหากาพย์รามายณะหรือรามเกียรติ์ 

ถัดไปเป็นพระหนุมาน อันเป็นปางอวตารของพระศิวะที่เข้าช่วยเหลือพระรามในการปราบทศกัณฑ์ในมหากาพย์รามายณะเช่นกัน

ด้านริมหน้าต่างด้านหนึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระแม่ทุรคา ลักษณะ ทรงศาสตราวุธ ประทับสิงโต อีกปางหนึ่งของพระแม่อุมาเทวีที่อวตารมาปราบอสูรชื่อ มหิษาสูร เชื่อกันว่า พระแม่ทุรคาประทานพรด้านความกล้าหาญ ชนะศัตรูรอบทิศ การมีบริวาร มีความยุติธรรม ตลอดจนการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง 
อีกด้านหนึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระพิฆเนศ ซึ่งทำจากหิน อ่อน พร้อมทั้งพุทธิและสิทธิ ชายาของพระองค์ พระพิฆเนศ ได้รับการนับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง

พอไหว้ทวยเทพพร้อมขอพระในโบสถ์แล้ว เดินลงมายังด้านข้างของโบสถ์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์เทพอีกหลายองค์ ได้แก่ ศาลพระพรหม 
พระศิวะ 

พระแม่อุมา 


พระพิฆเนศ 


เทวลัยถัดไปประดิษฐาน พระแม่สุรัสวดีเทพีแห่งวิทยาการและการศึกษา เป็นต้น


เลยไปด้านในก็เป็นที่ประดิษฐานของเทพต่างๆ เช่น ศิวลึงก์ ทำจากหินประดิษฐานอยู่โคนต้นไม้ และยังมีที่อยู่บนฐานไม้ และศิวลึงที่อยู่ในขดคล้ายนาคดูแปลกตา นวนพเคราะห์ หรือ เทพนพเคราะห์ทั้ง 9 อันได้แก่ พระอาทิตย์ 


เป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทาง ก้าวร้าวรุนแรงเฉียบไว, พระจันทร์ เป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ ให้ผลในทางนุ่มนวลอ่อนโยน, พระอังคาร เป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทางรุนแรงและกำลังเร่าร้อน


อีกหนึ่งองค์ที่แปลกตาก็คือ พระศิวะนาฏราช เป็นปางการร่ายรำอันเป็นลีลาวิจิตรแห่งพระศิวะมหาเทพ พระศิวะได้รับการขนานนามว่าทรงเป็นศิลปินแท้ๆ ที่ได้รับการยอมรับว่าทรงเป็นเจ้าของตำรับการร่ายรำระบำฟ้อนแห่งอินเดีย ด้วยเพราะทรงเป็นเทพแห่งศิลปะการร่ายรำ ปางหนึ่งของพระศิวะที่แสดงถึงฐานะของพระองค์ชัดเจนก็คือปางนาฏราชนั้นเอง ที่เป็นทวยเทพต่างๆของศาสนาฮินดู 

          ข้อมูลสถานที่ : วัดวิษณุ ก่อตั้งโดยสมาคมฮินดูธรรมสภา ภายในประดิษฐานเทวรูปแกะสลักจากหินอ่อน มีความงดงามตามแบบศิลปะอินเดียเหนือ เป็นโบสถ์ที่มีเทวรูปประดิษฐานมากที่สุดในประเทศไทย ภายในเย็นสบาย มีพัดลมบริการ สามารถนั่งสมาธิได้ และเป็นวักหนึ่งเดียวในไทยที่มีเทพครบทุกองค์

          เทวรูปที่ประดิษฐาน : พระพิฆเนศ พระวิษณุ พระแม่ลักษมี พระแม่สุรัสวดี พระพรหม พระศิวะ พระแม่ทุรกา พระพุทธเจ้า พระกฤษณะ พระราม เมื่อเดินลงมาจากโบสถ์ ให้เดินเข้าไปด้านข้างๆของโบสถ์ จะพบกลุ่มเทวาลัยเล็ก ๆ อีกมากมาย มีเทวาลัยพระแม่คงคาทรงจระเข้ องค์พระศิวะขนาดใหญ่ พระขันทกุมารหกเศียร ครอบครัวพระศิวะพระแม่อุมาเทวี เทพนพเคราะห์ มีศิวลึงก์ทำจากหินกระจายอยู่ตามต้นไม้ในวัด สามารถเอานมไปเทถวายศิวลึงก์ (บางองค์) เพื่อขอพร

          ตั้งอยู่ที่ : ตรงข้ามวัดปรก ยานนาวา หากมาทางรถไฟฟ้า BTS ให้ลงสถานีสะพานตากสิน มีรถสองแถวบริการให้ระบุว่าลงที่วัดปรก หากใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่อยู่ใกล้กับ BTS ให้ระบุว่าไปวัดวิษณุตรงข้ามวัดปรก (ซอยวัดปรกอยู่ตรงถนนเจริญกรุง)

          เวลาเปิด : ทุกวัน 06.00-19.00 น. (ปิด 3 ชั่วโมงระหว่าง 12.00-15.00) ควรไปหลังบ่ายสาม และเข้าร่วมบูชาไฟตอน 18.30 น.