8.4.12

ประวัติและความเป็นมาของพระคเณศ

 


       วันนี้เอาประวัติพระคเณศมาฝากกันค่ะ ก่อนที่เราจะไปทำการไหว้ขอพรกัน มาเริ่มกันเลยดีกว่า ในการทำพิธีมงคลต่าง ๆ จะต้องบูชาพระคเณศก่อนเทวดาองค์อื่น ๆ อย่างน้อยที่สุดก็กล่าวนมัสการพระคเณศด้วยพระคาถาว่า “ศรีคเณศาย นมะ (อ่านว่า ฉฺรี กะ เณ ฉา ยะ นะ มะ หะ)“ หรือ “ศรี คณปตเย นมะ (อ่านว่า ฉฺรี-กะ-ณะ-ปะ-ตะ-เย-นะ-มะ-หะ)” ก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการบูชาพระคเณศแล้ว

       ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไม่ว่านิกายใดก็ตามเคารพนับถือบูชาพระคเณศทั้งสิ้น มีน้อยคนที่จะเข้าใจถึงความหมายอันลึกซึ้งของการบูชานั้น นามว่า “คเณศ” นี้มีมาก่อนสมัยพระศิวะจะทรงอภิเษกกับพระนางอุมา ดังมีโศลกในฤคเวทกล่าวถึง คณปติ หรือ พฺรหฺมณสฺปติ (พระ-หมะ-นัส-ปะ-ติ) ว่าดังนี้

1คณานำ ตฺวา คณปตึ หฺวามเห
กวึ กวีนามุปมศฺรวสฺตมฺ -
เชฺยษฺฐราชํ พฺรหฺมณำ พฺรหฺมณสฺปต
อา นะ ศฺฤณฺวนฺนูติภิะ สีท สาทฺธมฺ
พฺรหฺมณสฺ แปลว่า แห่งวาจา หรือ วาณี ปติ แปลว่า เจ้า พฺรหฺมณสฺปติ จึงแปลว่า เจ้าแห่งวาจา

เอษ เอว อุเอว พฤหสฺปติรฺ วาคฺไว
พฺฤหตี ตสฺยา เอษ ปติสฺ ตสฺมาทฺ พฺฤหสฺติยะ
เอษ อุเอว พรหมณัสปติ ร วาคไว พรหม
พระคเณศเป็นราชาของทุกสิ่งทุกอย่าง จึงมีพระคาถาในพระเวทมีชื่อของพระคเณศว่า อธิปติ กรานตะประรติ ภัสดา เฉกทราช ในพระเวทมีคาถาหนึ่งว่า “ด้วยอาศัยคำเชิญของพวกเรา ท่านคเณศ ขอจงได้เสด็จมาคุ้มครองรักษาศักดิ คือพลังอารักขา เสด็จมาอยู่รอบ ๆ เรา หรือ รอบ ๆ เคหสถานบ้านเรือนเรา” มีคณปติสูตร คือ การช่วยของพระคเณศ ในนั้น กล่าวว่าพระคเณศเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านมีหลายชื่อ คณปติ มหาหัสตี เอกทันตะ วักตระตุนฑะ ทันตี เช่น โศลกใน กฤษณะยชุรเวท ไมตรายิณีสังหิตา

เอกทนฺตาย วิฆนเห วกฺรตุณฺฑาย ธีมหิ
ตนฺ โน ทนฺตี ปฺรโจทยาตฺ
ในคาถานี้มีคำว่า “เอกทนฺตาย วกฺรตุณฺฑ และ ทนฺตี
ถ้าเอาคาถาของพระเวทมาพิเคราะห์ดู คณปติ แปลว่า เจ้าแห่ง คณะ คณ แปลว่า กลุ่ม หรือ สมุห ส่วน ปติ แปลว่า เจ้า เมื่อรวมความแล้ว หมายถึง เจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ซึ่งในจักรวาลมีของเพียงสองอย่างนี้เท่านั้น โศลกในมุทคล (มุด-คะ-ละ)ปุราณะ กล่าวไว้ว่า

มโนวาณีมยํ สรฺวํ ทฺฤศฺยาทฺฤศฺย สฺวรูปกํ
คการาตฺมกเมวํ ตตฺ ตตฺร พฺรหฺม คการกะ 
มโนวาณีวิหีนํ จ สมฺโภคาโยคสํสฺถิตํ
ณาการาตฺมกรูปํ ตตฺ ณการสฺ ตตฺร สํสฺถิตะ 
      
       แปลว่า คเณศ เป็นเจ้าเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง คณะปติ มีอาการหรือ ลักษณะของร่างกาย ดังนี้ คือพระพักตร์เป็นช้าง เรียกว่า คชานนะ(คช+อานน) คชเสยะ สินธุรานณะ พระพักต์เป็นช้าง แต่ร่างกายเป็นมนุษย์ นี้เป็นความลึกลับของปรมาตมันอย่างหนึ่ง คช แปลว่าช้าง มีอักษร ๒ ตัว คือ ค และ ช ในพระเวทอักษรแต่ละอักษรมีความหมาย ค มีความหมายว่า สมาธินา โยคิโน ยตฺร คจฺฉนฺตีติ หมายถึงพวกโยคีต่าง ๆ ทำสมาธิเพื่อได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นคือ ค สำหรับ ช อธิบายว่า ยสฺมาทฺ พิมฺพปฺรติพิมฺพตยา ปฺรณวาตฺมกํ ชคชฺ ชายเต อิติ ช หมายถึง โลกต่าง ๆ นี้ เกิดจากสิ่งใดสิ่งนั้นคือ ช ดังนั้น คช จึงหมายถึง ปรมาตมัน (ดวงวิญญาณโลก)

      ตามความคิดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จักรวาลเกิดจากพระปรมาตมัน คช (คะชะ) แปลว่า ปรมาตมัน พักตร์ หรือ ศีรษะ เป็นราชาของร่างกายในร่างมนุษย์ การที่มีมีพักตร์เป็นช้าง แสดงถึงว่า ถ้าเราต้องการความสุขนิรันดร จะต้องขจัดกิเลสให้ได้ เพราะฉะนั้นรูปของพระคเณศแสดงเป็นนัยๆให้เห็นว่า เราจะแสวงหาสิ่งที่หลุดพ้นได้อย่างไร พระคเณศมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เอกทันตะ หมายถึงมีงาเดียว คือมีข้างขวาข้างเดียว ข้างซ้ายนั้นหัก ในมุทคลปุราณะ เขียนไว้ว่า 

เอกศพฺทาตฺมิกา มายา ตสฺยาะ สรฺวํ สมุทฺภวํ
ภฺรานฺติทํ โมหทํ ปูรฺณำ นานาเขลาตฺมกํ กิล 
ทนฺตะ สตตาธรสฺตตฺร มายา จาลก อุจฺยเต
พิมฺเพน โมหยุกฺตศฺจ สฺวยํ สวานนฺทโค ภเวตฺ 
มายา ภฺรานฺติมตี โปฺรกฺตา สตฺตาจาลก อุจฺยเต
โยรฺ โยเค คเณโศ’ ยเมกทนฺตะ ปฺรกีรฺติตะ
เอก นั้น หมายถึง มายา คือ วัตถุในรูปต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในโลก ทันตะ แปลว่า เจตนา ที่เป็นตัวควบคุมมายา คือ วัตถุต่าง ๆ ได้ คือ จิตใจ กล่าวในเชิงปรัชญา ก็คือ ปรมาตมัน ผู้อื่นไม่สามารถควบคุมมายาได้ด้วยเหตุนี้คเณศ ที่ชื่อ เอกทันตา นั้น ก็คือ ปรมาตมัน

พระคเณศ มีรูปต่าง ๆ ตามแต่สมัย

๑) พระพักตร์มี ๕ พระพักตร์ หรือมากกว่านี้ แต่ละรูปมี ๔ กร ก็มี ๒ กร ก็มี ๑๒ กรก็มี หรือมากกว่านั้นก็มี แต่ส่วนมากที่เห็นมี ๔ พระกร ทั้ง ๔ พระกร มีความหมาย คือ กรที่ ๑ ดูแลรักษาจักรวาล กรที่ ๒ รักษาทิศต่าง ๆ กรที่ ๓ รักษาโลกนี้ กรที่ ๔ รักษาบาดาลต่าง ๆ (นาคโลก) ทั้ง ๔ กร ถืออาวุธ ดังนี้

ปาศะ (เชือก) หมายถึง โมหะยาสกะ คือ ตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดดั่งเชือก
อังกุศะ (ขอช้าง) ควบคุมให้ไปตามทางที่ดีตลอดเวลา
รทะ งาช้าง ทำลายสิ่งที่มาเป็นอุปสรรคขัดขวาง
วระ ประทานพร ให้ประสพความสำเร็จ

พระคเณศมีหูใหญ่ เพื่อปัดเอาสิ่งสกปรกออกไป สามารถแยกสิ่งที่ดีและไม่ดีออกได้ ผู้ใดมีจินตนาการระลึกถึงพระคเณศ ผู้นั้นจะได้รับความสำเร็จ สามารถขจัดสิ่งขัดขวางไปสู่ความสำเร็จ แยกแยะสิ่งดีและไม่ดีได้ ช่วยให้ถึงความหลุดพ้นได้ พระคเณศมีพาหนะคือหนู ตัวหนูมีลักษณะเหมือนปรมาตมัน สมองและความคิดของหนูว่องไวรวดเร็ว ร่างกายของพระคเณศ มองดูเหมือนรูป โอม

    มีปุราณบางเล่มเขียนไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระศิวะและพระแม่ปารวตีประทับอยู่ที่ไกรลาส เขียนตัวอักษรโอม แล้วดูตัวโอมนั้นเหมือนดังที่นั่งสมาธิ จากตัวโอมนั้น พระคเณศก็ปรากฏขึ้นมีหัวเป็นช้าง พระศิวะกับพระแม่ปารวตีดีใจมาก อีกเรื่องหนึ่งครึ่งหนึ่งพระศิวะนั่งสมาธิเห็นพระคเณศในสมาธิขณะทำความคิดถึงปรมาตมัน แต่เห็นรูปพระคเณศ พระศิวะอธิษฐานขอร้องกับพระปรมาตมันนั้นว่า

    ท่านมาเป็นบุตรของเราในลักษณะร่างกายนี้ แล้ววันหนึ่งพระคเณศก็มาเป็นพระโอรสของพระศิวะ จึงมีข้อสังเกตว่า พระศิวะและพระแม่อุมาเริ่มทำพิธีบูชาพระคเณศก่อนแต่งงาน

        พระคเณศนั้นเรียกว่า คชนัน เอกทันต วักตระตุนฑ หรือ คเณศ มาก่อน คัมภีร์พวกตันตระทางไสยศาสตร์ คณปติเป็นปรมาตมัน กันทาศาสตร์ถือว่า พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ พระอินทร์ องค์เทพต่าง ๆเกิดจากพระคเณศ เมื่อเป็นเช่นนี้พระคเณศก็หมายถึง พระปรมาตมัน ทางโยคะศาสตร์ มีจักรต่าง ๆ ในนั้น มีจักรหนึ่งซึ่งเป็นจักรแรก เป็นคเณศจักร จักรแรกคือความสำเร็จแล้วก็ค่อย ๆ ไปถึงจักรสุดท้าย ถ้าจักรแรกไม่สำเร็จ ก็ขึ้นไปอีกไม่ได้ ในทางไสยศาสตร์เริ่มแรกต้องบูชาพระคเณศก่อน จึงบูชาองค์อื่น ๆ เครื่องหมายสวัสดิกะหมายถึงพระคเณศ สวัสดิกะ ๔ มุมนั้น เปรียบเทียบได้ว่าเป็น ๔ พระกร ของพระคเณศ คือการรักษาทิศทั้ง ๔

       กำเนิดของพระคเณศ แต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละกัลป์ คัมภีร์ปุราณต่าง ๆ เขียนไว้เป็นหลายอย่าง เกี่ยวกับการเกิดของพระคเณศ มีคัมภีร์หนึ่งชื่อ ไวยวนะสาคะมะ คือ ไวยานะกับสาคะมะ ที่เป็นปัญจมหาภูต ๑ อากาศภูตเกิด คือ พระคเณศจากอากาศก็เกิดอัคนิตัตวะ ชละตัตวะ อายุตัดวะ ปฤถวีตัตวะ จากฐาน ของตัวภูตต่าง คือ อากาศ อากาศตัตวะ ถือได้ว่าพระคเณศนั้น คือ ปรพรหม หรือ ปรมาตมัน ในคัมภีร์ปัทมปุราณะ เขียนไว้ว่า ยุคหนึ่ง แม่ปารวตี กำลังอาบน้ำอยู่เมื่อถูร่างกายเกิดไคลออกมาพอสมควร สร้างรูปของเด็กที่มีพักตร์เป็นช้าง ทำเล่น ๆ แล้วปล่อยลงไปในแม่น้ำคงคา แต่พระคงคาคิดว่าแม่ปารวตีเพื่อสนิทสร้างขึ้นไม่ควรทำลาย จึงใส่วิญญาณในรูปนั้น แล้วถือเป็นบุตรตนเองด้วย นำไปถวายพระศิวะ

        พระศิวะและแม่อุมาก็รับเป็นลูกตั้งชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า คางเคยะ ในลิงคปุราณะ มีอีกเรื่องหนึ่ง มีพวกอสูรได้พวกจากพระศิวะหรือพระพรหม มีอิทธิฤทธิ์เกิดขึ้นจึงทำอนาจารต่าง ๆ นานา พวกเทวดาคิดว่าควรไปขอพระศิวะให้ช่วย จึงรวบรวมองค์เทพต่าง ๆ ไปเฝ้าพระศิวะที่เขาไกรลาส เวลาผ่านไประยะหนึ่ง พระศิวะก็ปรากฏขึ้นต่อหน้าองค์เทพต่าง ๆ ขณะนั้นครูขององค์เทพต่าง ๆ คือ พระพฤหัสบดี เป็นหัวหน้าได้กล่าวกับพระศิวะว่าท่านให้พรแก่พวกเหล่าอสูร มีอิทธิฤทธิทำการอนาจารแล้วยึดสวรรค์โลกของพวกเทวดาทั้งหลายไปกล่าวขอพรกับพระศิวะว่า หากท่านทำให้พวกอสูรไม่ได้รับความสำเร็จ ถ้าเขาไม่ได้รับความสำเร็จเขาก็ไม่ได้รับอิทธิฤทธิ์ พระศิวะก็ประทานพรให้แก่องค์เทพต่าง ๆ ในไม่ช้าแม่ปารวตีได้ลูกองค์หนึ่ง ตั้งแต่เกิดลูกนั้นมีพักตร์เหมือนช้าง แต่กายเป็นมนุษย์ ตั้งแต่เกิด มือหนึ่งถือปาศะ อีกมือหนึ่งมีตรีศูล แม่ปารวตีเห็นลูกก็ดีใจ เทวดาทั้งหลายก็มาร่วมฉลองและให้พรแก่พระคเณศนานาประการ พระศิวะจึงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าของคณะให้พรว่า ไม่ว่างานประเภทใดก็ตามถ้าไม่บูชาพระคเณศ งานนั้นไม่ประสพความสำเร็จ ผู้ที่บูชาแล้วจะประสพความสำเร็จ ได้พรจากพระศิวะแล้วก็เป็นคณะปติ รับหน้าที่ให้เกิดพิฆนะต่าง ๆ หมายถึงอุปสรรคต่าง ๆ ไปตามพวกอสูร ถ้าพวกอสูรทำอะไรก็ขัดขวาง ตั้งแต่นั้นได้ชื่อ “พิฆเนศวร” ในศิวปุราณ การเกิดของพระคเณศมีอีกประการหนึ่ง ครั้งหนึ่งแม่ปารวตีกับพระสนมของแม่ปารวตี ๒ คน ชายากับวิชายา สนมทั้ง ๒

       รำพึงกับแม่ปารวตีว่าพวกคณะหรือพวกรักษาการ หรือทหาร หรือสาวก นี่อยู่ในไกรลาสนี้ทั้งหมดเป็นของพระศิวะของพระแม่ปารวตียังไม่มีสักคนเดียว ถ้าแม่ปารวตีจะมีเป็นพิเศษคนหรือสองคน แม่ปารวตีได้ฟังแล้วก็มิได้ติดใจอะไร แต่บังเอิญวันหนึ่งแม่ปารวตีกำลังอาบน้ำอยู่ พระศิวะเข้าไปถึงที่นั้น

         โดยไม่ได้ให้สัญญาณอะไร ขณะที่พาหนะพระโคนันทิ ห้ามพระศิวะว่าขณะนี้แม่ปารวตีกำลังอาบน้ำอยู่ แต่พระศิวะก็ไม่หยุด แม่ปารวตีก็รู้สึกละอายใจ ตั้งแต่วันนั้นก็คิดว่า ชยา กับ วิชยา นั้นพูดถูกว่า คนของพระศิวะจึงห้ามพระศิวะไม่ได้ ควรจะมีคนของฉันโดยเฉพาะ เมื่อตั้งใจแล้ว วันหนึ่งทาน้ำมันและถูตัวอยู่ ไคลตัวออกมาพอสมควรก็สร้างรูปเด็กงามมาก และใส่วิญญาณเข้าไปในนั้น แล้วให้พรว่าเธอเป็นโอรสของฉัน มีหน้าที่นั่งหน้าประตูและรักษาการอย่าให้ใครเข้ามาในถ้ำที่มารดาประทับอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาต และให้อิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ไม่ว่าใครก็ตามไม่ให้เข้ามาเด็ดขาด ครั้นเวลาผ่านไปพระศิวะไปถึงที่หน้าประตู แต่ลูกของปารวตียังไม่เคยรู้จักกับพระศิวะ พระศิวะก็ไม่รู้จักเขา ครั้นพระศิวะจะเข้าไปข้างในก็ถูกโอรสนั้นห้าม จึงเกิดการต่อสู้กับพระศิวะ จึงให้พวกภูตปีศาจไปสู้กับโอรสนั้น แล้วกล่าวว่าที่นี้เป็นบ้านฉัน ฉันเป็นเจ้าของที่นี้ จะบอกอย่างไรลูกของพระแม่ปารวตีก็ไม่เชื่อ ครั้นสุดท้ายก็อนุญาตให้พวกคณะของพระองค์สู้กับลูกของปารวตี พวกคณะพระศิวะสู้ไม่ได้ ดังนั้นพระศิวะจึงยกตรีศูลไปตัดพระเศียรโอรสของพระแม่ปารวตี แล้วเมื่อพระแม่ปารวตีได้ยินว่าลูกของพระนางถูกประหารด้วยพระหัตถ์ของพระศิวะ ก็ทรงพิโรธจึงมีอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นจากร่างกาย มี กรานี กุชะกา สัญญา โยคินีต่าง ๆ ยักษ์คินีต่าง ๆ ปรากฏขึ้นเป็นพัน ๆ องค์ แล้วไปสู้กับคณะของพระศิวะ พระแม่ปารวตีสั่งว่า เห็นวิญญาณของใครให้จับกินได้เลย พวกนี้ก็กระทำกับมนุษย์ ฤาษี มุนี เทวดา เมื่อใครอยู่ต่อหน้าก็ถูกจับแล้วกลืนเข้าไป

        ตั้งแต่นั้นความวินาศก็เกิดขึ้น พวกเทวดาต่าง ๆ ก็ไปหาพระศิวะ และอ้อนวอนว่าตอนนี้พระแม่ปารวตีทรงพิโรธใหญ่ ไม่มีใครจะลดความพิโรธของพระแม่ปารวตีได้ พระศิวะตรัสว่าไม่มีทางอื่นเพราะลูกของเขาตายไป แต่ถ้าลูกของเขามีชีวิตคงจะลดความพิโรธได้ มีอยู่ทางเดียวให้ไปทางทิศเหนือ ถ้าพบสิ่งมีชีวิตอะไรก่อนก็ตัดศีรษะมา เทวดาที่พระศิวะสั่งให้ไปก็พบช้างเชือกหนึ่ง จึงได้ตัดศีรษะแล้วต่อเข้ากับร่างลูกของพระแม่ปารวตีนั้น แล้วพระศิวะก็ใช้อมฤตชุบชีวิตขึ้นมา พวกฤษี มุนีทั้งหลายจึงได้ร้องตะโกนไชโยว่าลูกพระแม่ปารวตีมีชีวิตแล้ว พระแม่ปารวตีได้ยินเทวดาทุกองค์ และพระศิวะให้พรแก่ลูกของพระองค์ว่า อิทธิฤทธิ์ของพวกเราทั้งหมดรวมอยู่ในร่างกายของเธอ ที่ไหนมีบูชายัญญ์ หรืองานประเภทต่าง ๆ ให้บูชาพระคเณศ แล้วจึงค่อยบูชาเทพองค์อื่น ๆ พระแม่ปารวตีก็ดีใจ หายพิโรธ พระศิวะจึงประกาศว่าพวกที่เป็นคณะต่าง ๆ ของเรา ขอให้ลูกของพระแม่ปารวตีเป็นเจ้าของคณะทั้งหมด จึงได้ชื่อว่า คเณศ หรือ คเณศวร

        กายของพระคเณศสวยงามมากขณะที่พระพรหม , พระวิษณุ , และ พระศิวะ ก็ทรงถูกพระทัยพระคเณศแต่งกายด้วยผ้าสีแดง สีเหมือนพระอาทิตย์ตอนอัสดง เล็บของพระคเณศมีสีเหมือนดอกบัวแดง มีสี่พระกรถืออาวุธ มีดาบ ลูกศร ,คันศร ,และ ศักติคือสูญ เศียรของพระคเณศมีรังสีกระจายไปทุกทิศ สวมมงกุฎ นิ้วสวมเครื่องเพชรอัญมณีต่าง ๆ ทาจันทร์ทั้งตัวหูทั้งสองข้างมีกุณฑล หน้าอกกว้างมาก ร่างกายทั้งหมดเป็นเหมือนมนุษย์ มีแต่พระพักตร์เป็นช้าง ผู้ที่ระลึกถึงรูปพระองค์ ผู้นั้นมีความสามารถชนะอุปสรรคได้และประสบความสำเร็จ

        พระคเณศมีรูปลักษณะหลายประการ บางสมัยก็มี ๔ พระกร ๓ พระกร ๖ พระกร ๘ พระกร บางแห่งมี ๑ พักตร์ ๕ พักตร์ บางทีพระองค์ทรงชุดสีเหลือง ใส่ยัชโญปวิตซึ่งเป็นพญานาคท่านสวมมาลาอัญมณี ที่พระจันทร์มอบให้พระองค์ ร่างกายของพระองค์มีกำลังมหาศาล ขนาดช้างเอราวัณของพระอินทร์ก็สู้พระคเณศไม่ได้ เท้าของพระคเณศเทียบเท่ากับอักษร อ ตรงกลางของร่างกายเทียบเท่ากับอักษรตัว อุ และบนคอ คือเศียรทั้งหมดเทียบเท่ากับอักษร ม รวมกันแล้วกลายเป็นโอม โอม หมายถึงทั่วทั้งจักรวาล อยู่ในโอม เกิดจากโอม และครั้งสุดท้ายก็หายเข้าไปในโอม มีความหมายว่า ทั่วทั้งจักรวาล เกิดจากพระคเณศ และตอนมหาประลัยแล้ว ก็เข้าไปในรูปพระคเณศ โอมก็คือ พระคเณศ
แต่ละสมัยพระคเณศ มีอาวุธถือไว้มากมาย

         รูปที่มี ๑๐ พระกร ถืออาวุธต่าง ๆ คือ ปัทมะ ศักตะ คัตทะกา ปาศะ อังกุศะ คทา ตรีศุล ปัทมะ จักร นอกจากนั้น บางปางยังถือ ธง ลูกศร ธนู (คันศร) หม้อน้ำ ติศุทันทะ (ต้นอ้อย) งา ไม่ว่ารูปพระคเณศรูปใดก็ตาม ต้องถืออังกุศะกับปาศะ อาวุธทั้งสองนี้สำคัญ พระองค์ทรงถือไม่ได้ขาด ปาศะบางรูปเห็นเหมือนพญานาค ๗ เศียร บางแห่งพระคเณศถือขวาน และตรีศูล พาหนะของพระคเณศในคัมภีร์ปุราณะต่าง ๆ มีพรรณาไว้ ๓ ประเภท คือ สิงหะ มยูระ มูสะกะ (หนู) เคยมีมหามุนี คษตสมท ท่านบำเพ็ญตบะเพื่อต้องการเห็นรูปพระคเณศและขอพร เมื่อพระคเณศปรากฏต่อหน้า พระคเณศอยู่บนสิงโตมี ๕ พักตร์ ๑๐ พระกร ทุกพักตร์มี ๓ ตา มีรัศมีเหมือนพระอาทิตย์ มีเสียงโบกใบหู บนพระเศียรมีพระจันทร์ประทับอยู่ที่พระศอคล้องมาลัยที่ทำด้วยดอกบัว สวมยัชโญปวิตที่เป็นพญานาค ข้างซ้ายและข้างขวามีมเหสี ๒ องค์ คือ สิทธิ กับ พุทธิ

         มีตำนานกล่าวถึงพาหนะที่เป็นหนูว่า มีอสูรตนหนึ่งชื่อ คชมุขคาสุระ ครั้งหนึ่ง อสุระ คชมุขคาสุระกับพระคเณศ เกิดสู้รบกันในสมรภูมิ พระคเณศงาหักข้างหนึ่ง งาที่หักไปแล้วถือเป็นอาวุธต่อสู้กัน อสุระคชมุขคาสุระ เห็นว่าจะสู้ไม่ได้จึงแปลงร่างเป็นหนูหนีไป แต่หนีไม่พ้น พระคเณศจับได้จึงกลายเป็นพาหนะของพระคเณศในร่างหนู

       ไม่ว่าพาหนะขององค์เทพองค์ใด พาหนะนั้นก็มีความศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับองค์เทพนั้น ๆ มิฉะนั้น หนูตัวเล็ก ๆ จะรับภาระองค์พระคเณศได้อย่างไร ในทางปรัชญาศาสตร์ เวทางคศาสตร์ รูปของพระพรหม หรือ อาตมะตัตวะ หมายถึง วิญญาณต่าง ๆ ได้พลังจากศูนย์อะไร จุดศุนย์นั้นเรียกว่า อาตมะตัตวะ อาตมะตัตวะนั้นไม่มีความหนัก ไม่มีความเบา พระคเณศก็เป็นอาตมะตัตวะ ไม่ว่าจะเห็นร่างกายใหญ่โตแค่ไหน ความหนักความเบานั้นไม่มี หนูตัวเล็ก ๆ ก็เป็นอาตมะตัตวะเช่นเดียวกัน จึงไม่เล็กไม่ใหญ่มีอุปนิษัทเล่มหนึ่งชื่อว่า พฤหทรัณยะกะ บัญญัติ ตัวหนูที่เป็นพาหนะพระคเณศเป็นปรมาตมัน ในทางเปรียบเทียบตัวหนูนั้นคือ กิเลส เป็นตัวแทนกิเลสต่าง ๆ พระคเณศเป็นตัวแทนชญาณ และความสว่างตัวหนูเป็นตัวแทนความมืดและกิเลส

      ฉะนั้นผู้ที่ต้องการชนะกิเลสชนะความมืด อารธนาพระคเณศ และอยู่กับพระคเณศ และค่อย ๆ รับเข้าไปในตนเอง ก็จะมีความสามารถชนะกิเลส ชนะความมึดได้ ในกลียุคพระคเณศและพระแม่อุมาทรง โปรดมนุษย ผู้บูชาพระองค์มาก ในเดือน ๙ แรม ๔ ค่ำ และเดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำ ทั้ง ๒ วันนี้ เป็นวันบูชาประจำปี สำหรับวันบูชาของทุกเดือน ใช้วันขึ้นหรือแรม ๔ ค่ำ เดือนละ ๒ ครั้ง ของที่ถวายพระคเณศมีสิ่งของต่าง ๆ แต่หญ้าแพรกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โมทกะ (ขนมหวาน) พระคเณศชอบมาก โมทัก แปลว่า อานันทะ คือ ความสุข ความดีใจที่เป็นไปด้วยความสุข โมทกทำด้วยของ ๓ ประเภท เอาแป้งถั่ว (จะนา) ทอดในน้ำมันเนย น้ำตาล น้ำเชื่อมของน้ำตาลสุกพอสมควรทำเป็นขนมกลม ๆ หรือทำด้วยแป้งถั่วเหลือง บางทีทำด้วยมะพร้าว เอามะพร้าวขูดแล้ว เอาแป้งสาลี หรือ แป้งข้าวจ้าวใส่น้ำตาลทำเป็นโมทก