14.4.12

5.พระพิฆเนศ วัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช



เมื่อ 80 ปีที่ผ่านมา ในเทศกาลวิชัยทศมี ปี พ.ศ. 2468 หนึ่งในวันสำคัญของ ศาสนิกชนชาวฮินดู ชาวภารตะ (ชาวอินเดีย) ในประเทศไทย ได้ถือเป็นวันอุดมฤกษ์อันสำคัญ จึงพร้อมใจกันจัดตั้งสมาคมเพื่อรวมใจชาวภารตะให้เป็นหนึ่ง ณ อาคารเล็ก ๆ หลังหนึ่งในย่านหลังวังบูรพา (ใกล้โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า) ในนาม "ฮินดูสภา" ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "สมาคมฮินดูสมาช" จนถึงปัจจุบัน

กิจกรรมของสมาคมฯ ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นับจากวันก่อตั้งอาคารที่ทำการคูหาเดียวในหลังวังบูรพา ต้องขยับขยายเป็น 3 คูหาติดต่อกันในเวลาต่อมา และด้วยเห็นความสำคัญต้องการสนับสนุนการศึกษา ของเหล่าเยาวชนของชาติ จึงได้จัดตั้ง "โรงเรียนภารตวิทยาลัย" ขึ้นในบริเวณเดียวกัน

ในการก่อสร้างอาคารสมาคมฮินดูสมาช และ โรงเรียนภารตวิทยาลัยแล้ว จึงได้ทำการก่อสร้าง โบสถ์เทพมณเฑียร ขึ้น และได้อัญเชิญเทวปฏิมา ของพระผู้เป็นเจ้าและเทพยดา อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวฮินดู มาจากประเทศอินเดีย (พร้อมกับแผ่นหินอ่อนแกะสลักทั้งหมด) และอัญเชิญดินศักดิ์สิทธิ์จากพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 4 แห่ง อันได้แก่ ลุมพินี (สถานที่ประสูติ) พุทธคยา (สถานที่ตรัสรู้) สารนาถ (สถานที่แสดงปฐมเทศนา) และ กุสินารา (สถานที่ปรินิพพาน) มาไว้เพื่อความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคล พร้อมกันนี้ได้อัญเชิญน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในอินเดีย เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และ แม่น้ำสุรัสวดี ฯลฯ มารวมกันและนำมาประดิษฐานไว้ ณ โบสถ์เทพมณเฑียรแห่งนี้ เพื่อเป็นที่สักการะของเหล่าศาสนิกชนทั้งหลาย โดยสมาคมฯ ได้จัด พิธีเฉลิมฉลองการเปิดโบสถ์เทพมณเฑียรแห่งนี้อย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 11 มิถุนายน 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธี

หลักใหญ่ของสมาคมจะยึดมั่นอยู่กับคำสอนของศาสนาพราหมณ์ฮินดู โดยกิจกรรมสำคัญประการหนึ่งของสมาคมซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติกันเรื่อยมา คือการนัดชุมนุมกันในเวลากลางคืนของทุกวันจันทร์ 

นอกจากสวดมนต์และขับร้องเพลงถวายพระเจ้าแล้ว ก็มีการอ่าน และบรรยายความหมายของคำสอนใน คัมภีร์ภควัทคีตา บางครั้งก็มีการอ่านบทความว่าด้วยเรื่องราวทางศาสนา หรือวัฒนธรรม 

นอกจากนี้ยังมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ จากประเทศอินเดีย มาแสดงปาฐกถาให้ผู้ชุมนุมฟัง พร้อมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2482 ได้มีการตั้งโรงเรียนภารตวิทยาลัย มีการสอนภาษาฮินดี และภาษาอังกฤษ ให้เยาวชนอินเดียเป็นพิเศษในเวลากลางคืน 


"วัดเทพมณเฑียร" มีเทวรูปหินอ่อนประดิษฐานอยู่หลายองค์ด้วยกัน โดยมี พระวิษณุ และ พระแม่ลักษมี เป็นองค์ประธาน เทวรูปองค์อื่นๆ ก็มีอาทิ
พระพรหม ผู้สร้างโลก ดูงดงามอ่อนช้อยในศิลปะแบบอินเดียเหนือ 
พระแม่ทุรคา สัญลักษณ์แห่งความเข้มแข็งและความมีอำนาจ 
พระพุทธเจ้า ชาวพราหมณ์ฮินดูถือว่าเป็นอวตารปางที่เก้าของพระนารายณ์ สัญลักษณ์แห่งความไม่เบียดเบียน (อหิงสา) 
พระราม และ ภควดีสีดา (พระแม่สีดา) พระรามเป็นอวตารปางที่เจ็ดของพระวิษณุ 
พระกฤษณะและชายา อีกอวตารหนึ่งของพระวิษณุนารายณ์
พระหนุมาน อวตารของพระศิวะ เพื่อคุ้มครองดูแลพระราม
พระแม่ลักษมี มหาเทวีผู้ยิ่งใหญ่ สัญลักษณ์แห่งความงามการรักษาความดี พระพิฆเนศวร (พระคเณศ) โอรสของพระอิศวรและพระแม่อุมา และยังมีอีกหลายองค์ที่ชาวฮินดูและชาวไทยให้ความเคารพนับถือ

พิธีกรรมภายในวัดเทพมณเฑียรในแต่ละวัน เรียกว่า "พิธีอารตี" คือการถวายไฟแก่ทวยเทพ มีขึ้นทุกวันตั้งแต่ 06.00-08.00 น. (ในวันอาทิตย์ มีจนถึง 10.00 น. หรือ 11.30 น.) และตอนเย็นของทุกวันตั้งแต่เวลา 18.30-19.30 น. ผู้ศรัทธาสามารถเข้าร่วมพิธีกรรมได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

ย้อนหลังไปเมื่อหลายปีก่อนได้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ขึ้น เมื่อเทวรูปของชาวฮินดู "ดื่มนม" จากผู้ที่นำมาถวาย ต้นเหตุของข่าวเกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย แล้วลุกลามไปทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยเอง ซึ่งในขณะนั้น ประชาชนที่ทราบข่าวก็พากันแห่มาที่วัดเทพมณเฑียรจนมืดฟ้ามัวดิน เพื่อพิสูจน์ความจริง ปรากฏว่า น้ำนมหายไปจริง!! พร้อมกับมีการพิสูจน์จากกรมทรัพยากรธรณี และหน่วยงานของรัฐอีกหลายแห่ง แม้แต่สื่อมวลชนก็นำเสนอข่าวกันอย่างครึกโครม

เหตุการณ์เทวรูปดื่มนมในวัดเทพมณเฑียรนี้ ในด้านวิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าน้ำนมหายไปได้อย่างไร โดยไม่ทิ้งร่องรอยหรือคราบใดๆ ไว้ แต่ในด้านศาสนา มีคำอธิบายจากท่านเจ้าอาวาสวัดเทพมณเฑียรในขณะนั้นว่า ผู้คนในยุคปัจจุบันเริ่มเหินห่างจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บางคนก็ไม่เชื่อถือ ไม่มีศรัทธาต่อเทพเจ้าอีกต่อไป ปรากฎการณ์นี้จึงปาฏิหาริย์ที่เทพเจ้าต้องการให้มนุษย์ได้ประจักษ์พร้อมๆกัน และเป็นคำยืนยันจากพระองค์ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นยังคงมีอยู่จริงและไม่อาจลบหลู่ดูหมิ่นได้

สมาคมฮินดูสมาช และ วัดเทพมณเฑียร ได้ร่วมในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ทั่วไป ทั้งของรัฐบาลและประชาชนอยู่เสมอ อาทิ

- สร้างอาคารเรียน 10 หลัง ให้แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร เช่นที่ จังหวัดเลย สระแก้ว นครพนม และสกลนคร

- ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ พระอารามหลวงเป็นประจำทุกๆ ปี จนถึงปัจจุบัน

- บริจาคโลหิตเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ

- ให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นประจำทุกปี อาทิ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนภารตวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี

- ออกหน่วยบรรเทาสาธารณภัยของสมาคมฯ เพื่อช่วยเหลือราษฏรที่ประสบสาธารณภัยในถิ่นทุรกันดาร เช่น ภัยหนาวจัด อุทกภัย ฯลฯ โดยการแจกข้าวสาร อาหารแห้ง หรือผ้าห่มกันหนาว ฯลฯ

- บริจาคเงินช่วยเหลือผ่านหน่วยงานราชการ อาทิ กรมประชาสงเคราะห์ กรมการศาสนา สภาสังคมสงเคราะห์ฯ และสภากาชาดไทย บริจาคเพื่อสมทบโครงการจักษุศัลยกรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ 

- จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ร่วมกับคณะแพทย์ จากมูลนิธิพุทธเอนกประสงค์นนทบุรี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลเด็ก โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร ฯลฯ

- ร่วมมือกับหน่วยงานทางการแพทย์ ให้บริการตรวจรักษา แจกยาฟรี ให้กับราษฏรในถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญ เป็นประจำ

- โรงเรียนภารตวิทยาลัย ได้ยืนหยัดในฐานะสถาบันที่สร้างเยาวชน อันเป็นอนาคตของชาติมายาวนาน สร้างบุคคลสำคัญในสังคมที่ได้รับความสำเร็จเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติเป็นจำนวนมาก 

วัดเทพมณเฑียรตั้งอยู่ในโรงเรียนภารตวิทยาลัย (ใกล้กับโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า)
เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 06.00-20.00 มีเวลาปิด 3 ชั่วโมง ระหว่างเที่ยง-บ่ายสาม
เมื่อเดินทางถึงโรงเรียนภารตวิทยาลัย ให้แจ้งความประสงค์แก่ รปภ. หน้าโรงเรียนว่าต้องการมาไหว้พระ
จากนั้นขึ้นลิฟท์หรือบันไดด้านใน ไปยังชั้น 3 จะพบโบสถ์อยู่ภายใน เข้าไปไหว้เทพได้ทุกพระองค์
มีชาวไทยไปสักการะเทพและนั่งสมาธิทุกวัน พราหมณ์และเจ้าหน้าที่ภายในยินดีเบิกเนตรเจิมองค์พระให้
แนะนำให้ถวายเงินตามกำลังศรัทธาเพื่อช่วยบำรุงโบสถ์ 
การถวายดอกไม้ พวงมาลัย ขนมต่างๆ ให้จัดเตรียมไปเอง เนื่องจากไม่มีจำหน่ายภายในวัด

ที่มา -- siamganesh.com